หวั่นหนี้นอกระบบพุ่ง หลังสินเชื่อจำนำทะเบียนหดตัว

14 ธ.ค. 2567 | 23:15 น.

ลีสซิ่งหวั่นลูกหนี้ไหลออกนอกระบบ หลังสถาบันการเงินเข้มปล่อยกู้ หวั่นหนี้เสีย ส่งผลยอดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหดตัว สวนทางความต้องการกู้พุ่ง 20% สูงกว่าทุกปี ชี้มาตาการธปท.หวังลดคดี 1.9 ล้านราย วอนลูกหนี้พูดคุยร่วมหาทางรอด

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ( ปรับปรุงล่าสุด 9 ธ.ค.67) พบว่า ยอดคงค้างเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนรวม 851,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 835,310 ล้านบาทและเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนกันยายนที่มียอดคงค้าง 861,439 ล้านบาท 

แบ่งเป็นยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 487,763 ล้านบาท หดตัว 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและหดตัว  0.43% จากเดือนก่อนหน้า และยอดคงค้างสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 363,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว 2.21% จากเดือนกันยายนที่มียอดคงค้าง 371,549 ล้านบาท

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ   

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อเดือนตุลาคม 2567 จำนวน 851,081 ล้านบาทนั้นมาจาก

  • ธนาคารพาณิชย์ 226,421 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.08 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว 0.15% จากเดือนกันยายนที่มียอดคงค้าง 226,781 ล้านบาท
  • ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) 624,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว 1.5% จากเดือนกันยายนที่มียอดคงค้าง 634,659 ล้านบาท 

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดและในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนช่วง 10 เดือนปีนี้พบว่า ยอดการปล่อยหรืออนุมัติมีแนวโน้มหดตัว

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด

สาเหตุจากผู้ให้บริการในระบบต่างระมัดระวังเรื่องคุณภาพหนี้หลังจากปล่อยไปแล้ว แม้ว่าความต้องการสินเชื่อปีนี้จะสูงกว่าทุกปี โดยมีปริมาณเพิ่มประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การอนุมัติในภาพรวมกลับชะลอตัวทั้งหมด

“ความต้องการในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนนั้น ยังมีต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสถาบันการเงินผู้ให้บริการต่างระมัดระวังกับคุณภาพหนี้ จึงทำให้การอนุมัติได้จริงไม่มาก"

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ เขาต้องออกไปหาแหล่งกู้นอกระบบ โดยยอมรับสภาพดอกเบี้ยในอัตราสูง ซึ่งจุดนี้ยังเป็นประเด็นนี้ที่ต้องบริหารจัดการต่อไปภายใต้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยยังอยู่ในระบบสูง

อย่างไรก็ตาม ตลาดจำนำทะเบียนรถมีการแข่งขันสูงมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ในรูปแบบการแข่งขันที่หลากหลาย บางรายเน้นรีไฟแนนซ์ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อดึงลูกค้า 

นายสุธัชกล่าวถึงแนวทางการแข่งขันว่า ส่วนตัวยังเห็นการแข่งขันด้วยอัตราดอกเบี้ย โดยสินเชื่อจำนำทะเบียนมีการคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานเฉลี่ย 4-5% เพราะหากเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพและเห็นแนวโน้มความสามารถในการจ่ายได้ผู้ปล่อยสินเชื่อก็พร้อมจะเติมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ ยกเว้นผู้กู้ที่ไม่มีศักยภาพจริงๆเท่านั้น

ดังนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สถาบันการเงินไม่อยากปล่อยสินเชื่อ แต่เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ลูกหนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดตามเรียกเก็บเงินไม่ได้

สะท้อนว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อไปแล้ว มีโอกาสจะขาดทุน เพราะลูกหนี้มีความเสี่ยงที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่จะได้รับซึ่งนอกจากไม่คุมค่ากับความเสี่ยงแล้วยังมีต้นทุนที่อาจจะตามมาในอนาคตด้วย

ส่วนความท้าทายในการทำธุรกิจปีหน้า (2568) นายสุธัชกล่าวว่า การคุมคุณภาพหนี้ให้มีคุณภาพให้ต่อเนื่องได้หรือไม่ อย่างน้อยไม่แย่ลงกว่าเดิม และไม่สนับสนุนการก่อหนี้ในระบบที่เกินควรจะเป็น

ส่วนตัวขอฝากให้บรรดาลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล จำนำทะเบียน หรือมอเตอร์ไซด หรือรถมือสอง ทุกประเภทลูกหนี้ ขอให้ติดต่อและพูดคุยกับเจ้าหนี้ เพราะเจ้าหนี้ทุกรายต้องการให้ลูกหนี้อยู่ได้ เพราะเจ้าหนี้เองก็ต้องอยู่รอดไปด้วยกัน 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดทำโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”สะท้อนความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สถาบันการเงินและลูกหนี้ไม่ว่า สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคลและผู้ประกอบการ SMEs เบื้องต้นประมาณ  2.1 ล้านบัญชี จำนวน 1.9 ล้านราย วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท

วัตถุประสงค์ก็เพื่อพยายามช่วยลูกหนี้ให้อยู่รอด ไม่ต้องเกิดการฟ้องคดีเป็นล้านคดี หากลูกหนี้ปฎิบัติได้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ในที่สุดเพียงลูกหนี้กัดฟันกลับมาจ่ายหนี้ให้ได้ ก็จะได้รับการ “ยกเว้นดอกเบี้ย หรือตัดหนี้”

ขณะที่เจ้าหนี้เองต่างยอมเฉือนรายได้เพื่อช่วยให้ลูกหนี้มีอิสระมีความคล่องตัวในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

“ส่วนของบมจ.เทอร์โบเองช่วง 10 เดือนปีนี้ ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่เป็นลักษณะค่อยๆเติบโต และโตช้ากว่าปีที่แล้ว"

ส่วนคุณภาพหนี้ก็ดีขึ้น หลังจากเราระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อมากว่า 1ปี  ซึ่งจริงๆทั้งระบบ เข้าใจว่า ทุกคนอยากจะปล่อยสินเชื่อ แต่จำเป็นต้องระมัดระวังเนื่องจากความเสี่ยงอาจไม่คุ้มหากเกิดเป็นหนี้เสีย

ดังนั้นทุกคนต่างระมัดระวัง แม้ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้แต่ยังมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับลูกหนี้ที่ไหลออกไปนอกระบบค่อนข้างเยอะ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,053 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567