วาระร้อนเปิดสภาได้เวลาฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาลอิ๊งค์

15 ธ.ค. 2567 | 01:00 น.

วาระร้อนเปิดสภาได้เวลาฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาลอิ๊งค์ : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4052

KEY

POINTS

 

  • การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนี้ มีวาระ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2567 ถึง 9 เม.ย. 2568 
  • ฝ่ายค้านน่าจะใช้โอกาสนี้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แบบลงมติ เพราะ 1 ปี เปิดโอกาสให้ทำได้ครั้งเดียว
  • ฝ่ายรัฐบาลหนุนใช้เวทีสภาอภิปรายรัฐบาล ชี้ช่วงต้นปี 2568 เหมาะ ทุกเรื่องรัฐบาลพร้อม ไม่มีอะไรกังวล
     

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ “ปิดเทอม” กลับมา “เปิดเทอม” อีกครั้ง ในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มีวาระ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2567 ถึง 9 เม.ย. 2568 สมัยประชุมนี้ “ฝ่ายค้าน” สามารถยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายรัฐบาลได้ ใน 2 รูปแบบ คือ 

1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือที่เรียกว่า “ซักฟอกรัฐบาล” ซึ่งจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือ ทั้งคณะ ก็ได้ 

2.การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี

โดยช่องทาง “ซักฟอกรัฐบาล” รัฐธรรมนูญขีดเส้นให้ทำได้ “หนึ่งครั้ง” ภายในปีของสมัยประชุมสภา ดังนั้น ในสมัยประชุมสภาฯ นี้ “ฝ่ายค้าน” สามารถยื่นญัตติเพื่อขอเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้

สำหรับการอภิปรายไม่วางใจ ถือเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุด ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ของฝ่ายค้าน เพราะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลได้ และเรื่องที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย ก็มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน การบริหารประเทศที่ล้มเหลว นำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติ

ต้นปีหน้าซักฟอกรัฐบาล

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เคยออกมาระบุว่า ให้เวลารัฐบาลทำงานสักระยะจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะแม้จะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ก็รับไม้ต่อมาจาก “ครม.เศรษฐา” เกือบทั้งหมด 

“ต้นปีหน้าฝ่ายค้านก็จะมาหารือกันถึงความเหมาะสมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่ออกมาพูดถึงการเตรียมความพร้อมการยื่นอภิปรายรัฐบาล ว่า เราเห็นแล้วว่า มีข้อมูลอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องมีการมาพูดคุยและสอบถามรัฐบาล เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยพิบัติ ปัญหาพื้นที่เขากระโดง และอีกมายมาย 

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จะนัดหมายหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการว่าจะใช้ช่องทางใดในการดำเนินการยื่นอภิปราย โดยช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีคำตอบที่ชัดเจน

“ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ แม้กระทั่งการประชุมลับนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 อย่างแน่นอน” 

นายณัฐวุฒิ ระบุด้วยว่า เปิดสมัยประชุมสภาฯ 12 ธ.ค.นี้  พรรคร่วมฝ่ายค้านคาดหวัง “นายกรัฐมนตรี” จะมีความพร้อมที่จะมาตอบกระทู้ถามสดด้วยตัวเอง หากไม่มาตอบ จะเป็นข้อพิรุธที่พรรคฝ่ายค้านจะนำไปสู่การอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ไม่กังวลซักฟอกรัฐบาล

ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายรัฐบาลช่วงต้นปี 2568 ว่า ยังไม่ทราบว่าอภิปรายอะไรก่อน เพราะมีข่าวทั้งจะให้เปิดสภาฯ พูดเรื่องเอ็มโอยู 44 เขากระโดง หรืออะไรต่างๆ 

“เขามีสิทธิจะทำ แต่ต้องมาเจรจากับวิปรัฐบาลว่าจะพูดอะไรอย่างไร ตอนแรกบอกจะพูดเรื่องเอ็มโอยู และอีกสองอาทิตย์เรื่องอภิปรายรัฐบาล ซึ่งก็ไม่รู้จะอภิปรายอะไรก่อนกันแน่ ตอนนี้ยังไม่มีการเจรจาว่าจะพูดอะไร” 

อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องรัฐบาลพร้อม ไม่มีอะไรเป็นข้อกังวล แต่ต้องทราบก่อนว่าจะขอเปิดอภิปรายอะไร หลังเปิดสภาฯ วันที่ 12 ธ.ค. น่าจะได้พบแล้วพูดกันอย่างเป็นทางการ 

“ยืนยันเราพร้อมรับทุกเรื่อง รัฐบาลตอบได้หมด แต่การจะพูดอะไรไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ก็อยากให้ระมัดระวังสิ่งที่พูดว่าจะกระทบความสัมพันธ์หรือไม่ เรื่องอื่นไม่มีปัญหารัฐบาลพร้อมตอบทุกเรื่อง” นายวิสุทธิ์ ระบุ

หนุนใช้สภาอภิปรายรัฐบาล

ส่วน นายนพดล ปัทมะ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายรัฐบาลช่วงต้นปี 2568 ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหา และข้อมูลของฝ่ายค้านมากกว่า แต่เท่าที่ดูยังไม่เห็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากเพียงพอ ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการอภิปรายปีละครั้ง ฝ่ายค้านก็คงใช้สิทธิ รัฐบาล และ พรรคเพื่อไทย มองเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าฝ่ายค้านจะยื่นก็พร้อมตอบคำถาม 

“การใช้กลไกสภาฯ สอบถามรัฐบาล ย่อมดีกว่าไปทำไอโอในโลกโซเชียล เห็นด้วยกับหยิบยกปัญหาต่างๆ มาพูดในสภาฯ อย่างกรณีเอ็มโอยู 44 ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่อย่างนั้นการทำไอโอบนโซเซียลเยอะ ถ้ามีโอกาสทำความจริงให้ปรากฏ ย่อมดีกว่าการเมินเฉย กับขับเคลื่อนด้วยความเท็จบนโซเชียล เพราะความเท็จรับใช้คนบางกลุ่ม แต่ความจริงรับใช้ทุกคนในชาติ ใครมีข้อมูลอะไรได้นำมาตีแผ่ทุกฝ่ายต้องเห็นประโยชน์ชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองวาระการเมืองของตัวเอง”

                                             วาระร้อนเปิดสภาได้เวลาฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาลอิ๊งค์

ต้นปี68เหมาะอภิปรายรัฐบาล

นายธนกร วังบุญคงชนะ  สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวการยื่นอภิปรายรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า ถือเป็นสิทธิที่ผู้นำฝ่ายค้านจะหารือพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า มีประเด็นใดที่การทำงานของรัฐบาลไม่ชัดเจน สามารถสอบถาม และเชิญให้รัฐบาลมาชี้แจงเหตุผล ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ 

“ถือเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลก็จะได้ชี้แจงประชาชนผ่านสภาว่าได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง ส่วนจะเป็นการยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หรือจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็สามารถทำได้” 

อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเป็นช่วงต้นปี 2568 รัฐบาลได้ทำงานมาประมาณ 5-6 เดือนแล้ว ก็ถือว่าเหมาะสม แต่ถ้าจะให้ดีกว่า มองว่ารัฐบาลทำงานผ่านไป 1 ปี นโยบายและโครงการต่างๆ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ ทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าของชีพต่างๆ เชื่อว่าจะค่อนข้างเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ก็จะเหมาะสมกว่า

“เมื่อรัฐบาลทำงานได้ 6 เดือนถึง 1 ปี ก็เหมาะสม ที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายทั่วไป หรือจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพื่อให้เวลารัฐบาลทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมก่อน เพื่อจะมีข้อมูล ข้อบกพร่อง หรือ ข้อสงสัยที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติขอคำตอบจากนายกฯ และรัฐบาลให้ชี้แจงได้

แต่ขอให้ใช้เวทีสภาอย่างสร้างสรรค์ คุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ควรจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาออกกฎหมาย ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหารายได้ ช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนก่อน ไม่ควรใช้เวลาในการอภิปราย จ้องแต่โจมตีรัฐบาล หรือ หวังจะใช้ช่วงชิงจังหวะเล่นเกมการเมืองเท่านั้น” นายธนกร ระบุ  

 ...มารอดูกันว่า เมื่อเปิดสภาฯ มาแล้ว “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะใช้ช่องทางใดในการยื่นอภิปราย “รัฐบาลแพทองธาร” ระหว่างการอภิปรายแบบไม่ลงมติ กับ การอภิปรายด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจ

แต่ก็เชื่อว่า “ฝ่ายค้าน” น่าจะใช้โอกาสนี้ยื่นญัตติ “อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” แบบลงมติมากกว่าไม่ลงมติ เพราะ 1 ปี เปิดโอกาสให้ทำได้ครั้งเดียว

ที่สำคัญ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” จะนำไปสู่แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะการ “เปิดแผลรัฐบาล” ลดทอนคะแนนความนิยมลง ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นกับฝ่ายค้านได้เช่นกัน...