เกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวีใหม่ ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 แต่ทางบริษัทประกันรถอีวีมีเวลาในการเตรียมตัวและปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ได้จนถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
ทั้งนี้เกณฑ์ใหม่ประกันรถอีวี มีการระบุให้เพิ่มความคุ้มครองแบตเตอรี่ โดยคำนวณค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน โดยในปีแรกจะคุ้มครอง 100% ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทประกันคิดค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งานร่วมด้วยเมื่อมีการพิจารณาให้ความคุ้มครอง รวมถึงการชดใช้สินไหม
นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่ง กสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มราคารถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ที่ปรับลดลง อาจส่งผลต่อแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมธรรม์รถอีวีใหม่ เรื่องราคาแบตเตอรี่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า การจำกัดความรับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายของแบตเตอรี่ จะยึดมูลค่าราคาของแบตเตอรี่ตอนออกรถในปัจจุบัน หรือในช่วงเวลาที่เกิดการชดเชยในอนาคต เพราะเกณฑ์ประกันใหม่ เพิ่มความคุ้มครองแบตเตอรี่ โดยคำนวณค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน
เช่น ถ้าผู้ใช้รถซื้อประกันภัยปีต่ออายุปีที่ 2 ก่อนที่จะมีการปรับราคาแบตเตอรี่ลดลง เช่น ราคาแบตเตอรี่ที่ 500,000 บาท ซึ่งความคุ้มครองในปีที่ 2 จะอยู่ที่ 90% หรือ 450,000 บาท (ปีที่ 3-5 เหลือ 80% 70% 60% ตามลำดับ จนเหลือ 50%) แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ ณ เวลานั้น ราคาแบตเตอรี่ปรับลงเหลือ 300,000 บาท
กรณีนี้ถามว่า บริษัทประกันภัยจะคำนวณค่าชดเชยให้ในวงเงิน 450,000 หรือ 270,000 บาท คือคิด 90% จากราคาแบตเตอรี่ที่ 500,000 บาท หรือคิดในราคาแบตเตอรี่ที่ปรับลดลงเหลือ 300,000 บาท และลูกค้าต้องจ่ายอีก 10% หรือไม่ อันนี้ยังไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน การปรับราคาลงของรถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งในการอนุมัติสินเชื่อโดยทั่วไป จะพิจารณาจากความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้า และดูประวัติการชำระสินเชื่อที่ผ่านมาเป็นหลัก แต่การปรับลดราคารถยนต์จะส่งผลให้ค่างวดในการผ่อนชำระลดลงได้ (เหมือนลูกค้ากู้น้อยลง) แต่ด้านลบ การปรับลดราคาลงจะส่งผลต่อการกำหนดเงื่อนไขการให้สินเชื่อ รวมถึงคุณภาพหนี้ในระยะยาว เพราะราคารถอีวีที่ปรับลดลงนั้น จะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าของทรัพย์สินเช่าซื้อที่เป็นหลักประกัน
ดังนั้น หากมีความไม่แน่นอนของการด้อยค่าของหลักประกันมากขึ้น สถาบันการเงินต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถอีวีมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่การชำระหนี้คืนจะช้าลงกว่ามูลค่าที่ลดลงของหลักประกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาการปรับเงินดาวน์เช่น อาจจะเพิ่มเงินดาวน์เป็น 25-30% จากปกติที่ลูกค้ารายเดียวกันนี้สามารถวางเงินดาวน์ 15-20%
ขณะเดียวกันเงินดาวน์จะมีผลต่อการพิจารณาคะแนน/สกอริ่ง ถ้าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันมีการด้อยค่าลงมากสถาบันการเงินจะมีการระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลไกของตลาดที่ผ่านมาคือ ถ้าราคารถยนต์ ซื้อขายกันได้ราคาดี เกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องเงินดาวน์ขั้นต่ำจะอยู่ที่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าราคาซื้อขายต่อไม่ดีไม่ได้ราคาก็จะกำหนดให้ลูกค้าวางเงินดาวน์ในระดับสูงขึ้น
นายธีรชาติกล่าวถึงแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีสัญญาณบวกเข้ามาทั้งจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ชัดเจนขึ้นและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้รถกระบะ (บิ๊กอัพ) กระเตื้องกลับมาได้หลังจากช่วง 5เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถกระบะลดลง 45.27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อาจต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อผู้ใช้รถกลุ่มนี้ด้วย เช่น ผลผลิตและราคาพืชผลทางการเกษตร รวมถึงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออก ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆ เช่นอัตราดอกเบี้ยและคุณภาพหนี้ น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวไม่ต่างจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหากตลาดรถกระบะกระเตี้องขึ้นและมีรถรุ่นใหม่ๆ เข้ามา น่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 6.4-6.5 แสนคัน
ส่วนยอดอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับลดลงนายธีรชาติกล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหากจำแนกแต่ละส่วนที่เป็นสาเหตุให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลงไปประมาณ 25% จะพบว่า
ส่วนสถานการณ์ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เริ่มเห็นสัญญาณทรงตัวคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลชะลอตัวลง และมีอัตราการยึดรถยนต์ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการ RL คือ ถ้าลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ แต่สัญญาณหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) และราคาประมูลขายรถยึด ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นประเด็นที่ต้องจัดการกันต่อไป
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,008 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567