กางแผน 5 ปี ‘ไทยกรุ๊ป’  ตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิต แตะ 2.2 หมื่นล้านบาท

30 พ.ค. 2567 | 06:21 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 06:21 น.

“ไทยกรุ๊ป” ตั้งเป้า 3-5 ปีเพิ่มเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 22,000 ล้านบาท จ่อออกกรมธรรม์สำหรับผู้สูงอายุ พร้อมที่อยู่อาศัย ลดความกังวล ด้านประกันภัย ตั้งเป้าเบี้ยรับแตะ 1 หมื่นล้านบาท หลังปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ลั่นรักษาแชมป์รถเช่าองค์กร 23,000 คัน

สมาคมประกันชีวิตไทยรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจประกันชีวิตไตรมาส 1 ปี 2567 มีเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่(New Business Premium) ทั้งสิ้น 45,851 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่อุตสาหกรรมประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในไตรมาสแรกปี 2567 รวม 72,995 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตที่ลดลงของเบี้ยประกันภัยสุขภาพ ประกันภัยอุบัติเหตุและประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TGH เปิดเผยว่า ไทยกรุ๊ป เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ จะมีรายได้หลักจากธุรกิจประกันชีวิต 50% ธุรกิจประกันภัย 30%  และธุรกิจรถเช่า 20% ซึ่งภายใน 3-5 ปีตั้งเป้าว่า จะเห็นไทยกรุ๊ป อยู่ในตำแหน่งที่มีความหมายในธุรกิจประกันมีสัดส่วนที่เหมาะสมที่ผลักดันธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตต่อไปได้ 

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน)

 

ทั้งนี้ภายใน 3-5ปี ธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับ 11 ของอุตสาหกรรมตั้งเป้าที่จะมีเบี้ยรับรวมจาก 13,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 22,000  ล้านบาท ธุรกิจประกันภัยปัจจุบันอยู่ในอันดับ 21 จะมีเบี้ยรับรวมจาก 6,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจรถเช่าซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถเช่าอยู่ที่ 23,000 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 จากตลาดรถเช่าในระบบ 1 แสนคัน ก็จะเน้นรักษาอันดับ 1 ไว้ต่อไป  

“ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งในระบบมีเบี้ยรับรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท ขยายตัวประมาณ 0-5% ซึ่งช่วงเศรษฐกิจดีๆ เคยขยายตัวถึง 14% และ 5 ปีก่อนก็เคยขยายตัวถึงเลข 2 แต่หลังการระบาดของโควิดการเติบโตของเบี้ยประกัน ซึ่งปัจจุบันเบี้ยชีวิิตต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 8,900-9,000 บาทต่อคน มีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิต(Density Rate) ประมาณ 30% ต่อประชากรและมีเบี้ยประกันภัยต่อ GDP (Insurance Penetration) ประมาณ 3%” นายโชติพัฒน์กล่าว

ผลประกอบการ ไทยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์

อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะออกประกันชีวิตรูปแบบใหม่ที่ลิงค์กับโรงพยาบาลและที่อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดความกังวลให้กับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตัวเองและเป็นฟรีโฮลด์ คือผ่อนหมดแล้ว สามารถมาฝากขายบ้านเหลือส่วนต่างเท่าไหร่ สามารถนำมาซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการ ทั้งบ้านและคอนโดราคาประมาณ 3-5 ล้านบาทพร้อมค่าเบี้ยประกันเหมาจ่ายอีก 8 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท  

“เราต้องการสร้างชุมชนให้กับผู้สูงอายุที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ โดยไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งค่าส่วนกลางต่างๆ ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย โดยกรมธรรม์จะคุ้มครองถึง 99 ปี หากเสียชีวิต ลูกหลานยังสามารถมาไถ่ถอนบ้านออกไปได้ ซึ่งเรากำลังพิจารณารายละเอียดและเตรียมพื้นที่รองรับแล้วราว 200-300 ไร่” นายโชติพัฒน์ กล่าว 

ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัย หลังจากปิดกิจการบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัดมีการแบ่งพอร์ตออกเป็นทรัพย์สิน โอนไปที่บริษัท ทิพยประกันภัย ประกันสุขภาพโอนไปที่แปซิฟิกประกันภัย ส่วนประกันรถยนต์โอนมาที่อินทรประกันภัย บริษัทในเครือไทยกรุ๊ป ดังนั้นปีที่ผ่านมา จึงเป็นการจัดโครงสร้างอินทรประกันภัยใหม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำธุรกิจ ทำให้ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยไม่มาก 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปิดกิจการบริษัทประกันภัยไปบ้าง แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยมากเกินไป ในอนาคตไม่มีมีเยอะขนาดนี้ ทำให้บริษัทประกันภัยขนาดเล็กๆหายไปจากระบบ แต่การที่บริษัทจะซื้อกิจการหรือควบรวมกับบริษํทประกันรายอื่น ต้องดูว่า เมื่อควบรวมแล้วบริษัทได้ประโยชน์อะไร มีพอร์ตที่ซ้ำซ้อนกับที่อินทรประกันภัยหรือไม่ ซึ่งก็คือ ประกันรถยน์และประกันทรัพย์สิน แต่หากมองในมุมคนซื้อ ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดที่เหมาะสมที่จะเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการแต่อย่างใด 

ด้านธุรกิจรถเช่ามีลูกค้าองค์กรประมาณ 80 บริษัท และ 40% ของลูกค้าทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ ทำให้ไม่มีหนี้เสีย และมีสัญญาเช่า 4-5 ปี แต่จากสัญญาณยอดการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงเกือบ 50% บริษัทจึงได้นำร่องให้เช่ากับรายย่อยทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ซึ่งสัญญาณตอบรับดีมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มากประมาณ 100 คันเท่านั้นและราคาเช่าต่อวันหลัก 1,000 บาท 

ขณะที่จากจำนวนรถเช่า 23,000 คันนั้น รถยนต์อายุ 5 ปีจะต้องออกประมูลในตลาดรถมือสอง หรือประมาณปีละ 4,600 คัน ซึ่งรวมแล้วในระบบจะมีรถมือสองเข้าลานประมูลเฉลี่ยเดือนละ 20,000-25,000 คัน โดยเป็นปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2566 ทำให้ราคาลดลง 10-40% ขึ้นกับรุ่นรถ บริษัทฯ จึงได้แบ่งเกรดรถมือสองออกเป็น A B C เพื่อนำมาขายรายย่อยมากขึ้น แทนที่จะขายยกล็อตให้กับเต้นท์รถ ซึ่งจะทำให้ได้ราคาขายดีขึ้น 

“เศรษฐกิจปีนี้ ยอมรับว่าเหนื่อย รายย่อยเจอปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและการผิดนัดชำระในตลาดสินเชื่อ เชื่อว่ามีความฝืดเคืองเกิดขึ้นแน่นอน” 
นายโชติพัฒน์  กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,996 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567