ผลพลอยได้จากการลงทุน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง

01 มี.ค. 2567 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2567 | 08:34 น.

ผลพลอยได้จากการลงทุน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง : คอลัมน์ Investing Tactic น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

โดยความเข้าใจการลงทุนเป็นเรื่องของการ พยายามหาผลกำไรและลดความเสี่ยง ในการบริหารเงินทุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุนอาจมีมากว่า การได้กำไรหรือขาดทุน เนื่องจากเรื่องของการเงินการลงทุนมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของปากท้องและความมั่งคั่ง จึงมีผลกระทบต่ออารมณ์ และ การดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

คุณปู่ วอเรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า "ความเสี่ยง มาจาก การที่คุณไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไร" หลายครั้งเราผิดพลาดและบาดเจ็บ เพราะรู้ไม่พอว่า สิ่งที่กำลังทำนั้นมีความเสี่ยงและข้อเสียอะไรบ้าง  เพื่อจะรู้ว่ากำลังทำอะไรนั้น ต้องหาความรู้ และทำความเข้าใจกับหลายศาสตร์ความรู้ เช่น จิตวิทยา การตีความ  การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ และอีกมากมาย  

ซึ่งสิ่งเหล่านั้น  กลายเป็นผลพลอยได้ทางความรู้ และ เมื่อถูกนำมาปฏิบัตินานเพียงพอ  อาจก่อให้เกิดนิสัยใหม่ ในการดำเนินชีวิตและการทำงานด้านอื่นไปด้วย ซึ่งจะไปในทางที่ดีหรือไม่ดีนั้น ก็ขึ้น กับ วินัย และ mindset ของนักลงทุนที่นำความรู้เหล่านี้มาปรับใช้  ซึ่งเราจะมาดูกันว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่น่าสนใจนั้นมีอะไรบ้าง

ระเบียบวินัยและการอดทน ในระหว่างที่เราต้องพิจารณาหาการลงทุนที่ดี เช่น หุ้นที่ดี วิธีการเทรดหุ้นที่ดี เราต้องใช้เวลานานในการหาข้อมูล รวมถึงการรีวิว และ ทดสอบข้อมูลและแนวคิดเหล่านั้น กว่าจะมั่นใจที่จะใช้ จริง รวมถึงต้องรอเวลาที่ตลาดเหมาะสมที่จะลงทุน  

ผลพลอยได้จากการลงทุน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง

การจะทำได้ตามแผนเหล่านี้ ต้องใช้ความเชื่อมั่นและวินัยในการทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ผลที่ต้องการจะยังมาไม่ถึงก็ต้องอดทน ทำต่อไปตามแผน ซึ่งเมื่อทำได้นานพอ เราจะกลายเป็นผู้ที่อดทนกับอย่างอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน เช่น การนอนและตื่นเป็นเวลาโดยไม่ขี้เกียจ เพื่อทำงานประจำวัน หรือ การลุกออกไปออกกำลังกาย เป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีความอดทนในการใช้งาน  หรือแม้กระทั่งการอดทนฝึกนิสัยใหม่ๆ หรือ ไม่ทำนิสัยเก่าได้

"สิ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างคนรวยและคนจนคือเขาใช้เวลาอย่างไร" อีกหนึ่งประโยคคลาสสิคจาก โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือ พ่อรวยสอนลูก  ถ้าความเจ็บปวด และ การอยากประสบความสำเร็จในเรื่องการลงทุน ทำให้เราต้องกระตือรือร้นที่จะหาความรู้และแนวคิดในด้านการบริหารความเสี่ยงให้มากที่สุด  สิ่งที่เราจะได้ตามมาคือ ความสามารถในการควบคุม และ ทำนายอนาคตทางการเงินของตนเอง  

การเห็นข้อมูลรายรับรายจ่ายของบริษัทต่างๆ เห็นความเป็นมาเป็นไปของบริษัท รวมถึง อัตตะชีวประวัติของนักลงทุน CEO คนสำคัญๆ  เราจะหันกลับมามอง พอร์ตของตนเอง รวมถึง แผนการใช้เงินของตนเอง และ ปิดจุดบอดให้มากที่สุด เช่น การทำประกันชีวิต การแบ่งเงินเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ รวมถึง การวางแผนหลังเกษียณ โดยอาศัยข้อมูลรายรับรายจ่าย ของตนเอง เราจะรู้ว่า เราควรลงทุนมากเท่าไร เก็บออมเท่าไร ใช้ได้เท่าไร  เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน และ ลำบากแก่ตนเอง และคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีที่จะตามมาได้

"เรียนรู้การขี่จักรยานจากการอ่านหนังสือไม่ได้" ฉันใดก็ฉันนั้น แม้เราจะมีความรู้ในด้านต่างๆมากเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะเทียบเท่าได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การปฏิบัติจริงนั้น เราจะได้เรียนรู้และเข้าใจผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ  การตอบสนองจากจิตใต้สำนึกของตนเองผ่านเหตุการณ์นั้นๆ   แน่นอนการเตรียมตัวยิ่งมาก ยิ่งเยอะ ยิ่งก่อให้เกิดความกลัว เพราะมนุษย์ มีสัญชาติญาณการประเมินความเสี่ยงของตนติดมาอยู่แล้วโดยบังคับร่างกายให้ไม่ทำในสิ่งที่คิดว่าอันตราย  แต่ความเสี่ยงอย่างหนึ่งก็คือการไม่เสี่ยง  การเลือกที่จะไม่ทำเลยนั้น ตัดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จไปโดยสิ้นเชิง 

การออกจากคอมฟอร์ตโซนโดยการกล้าที่จะลงทุนนั้น  นำไปสู่ความกล้าอื่นๆ เช่น กล้าคิดนอกกรอบ  กล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าที่จะล้มและผิดพลาด  กล้าที่จะทดลองเทคโนโลยี หรือกิจกรรมใหม่ ๆ สิ่งนี้นำมาซึ่งความมั่นใจ  ซึ่งเมื่อกล้าในสิ่งที่สร้างสรรค์เหล่านี้แล้ว ข้อมูลที่ได้มาใหม่ๆ ก็จะนำมาประกอบการคิดวิเคราะห์ ประเมินการลงทุน และการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้นไปอีก เป็นระบบไปโดยอัตโนมัติ

"ความสำเร็จไม่ใช่จุดสิ้นสุด  ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งร้ายแรง ความกล้าหาญที่จะดำเนินต่อไปต่างหากที่สำคัญ" วินสตัน เชอร์ชิล เมื่อเราต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของตลาดในปัจจุบัน ราวกับอยู่ในสงคราม ความสำเร็จและความผิดหวัง สามารถเกิดขึ้นได้ภายในวันเดียวถ้าเราเรียนรู้ และปรับตัวกับตลาดได้ดีพอ  เราจะหันกลับมาบริหารความเสี่ยงในการตัดสินใจต่างๆ

เราจะพยายามมองหาข้อดีข้อเสียในหัวข้อต่างๆเพื่อฝึกประเมินให้เป็นนิสัย ในธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดที่ดีอย่างเดียวหรือ เสียอย่างเดียวอย่างที่จิตใต้สำนึกเราบอก เราจะฝึกที่จะมองด้านตรงข้าม และมีสติที่จะยับยั้งตนเองเมื่อเวลาที่มั่นใจมากเกินไป  และมีสติพอที่จะลงมือปฏิบัติบางอย่างตามแผนทั้งที่ยังกลัว และเราจะถอยมามองภาพกว้างว่าเรายังอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องเพื่อเป้าหมายระยะยาว อยู่หรือไม่  ก่อนที่จะตีโพยตีพาย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหากับคนรอบตัว

มีความหนักแน่นมากขึ้น เช่นเดียวกับการเล่นเกมส์ อะเวลอน (avelon) เกมส์กระดานเกี่ยวกับการหาคน ฝ่ายคนดีและฝ่ายโจร ในการหาข่าวเพื่อลงทุนในทุกๆวัน เราจะเห็น ผู้มีความรู้มาให้ทรรศนะ คำแนะนำ รวมทั้ง CEO ของบริษัทต่างๆมาให้ข้อมูล เมื่อแรกที่เราเรียนรู้นั้น เราจะเชื่อทุกอย่างและทำตาม แต่เมื่อผ่านเวลาไปช่วงหนึ่ง เราจะเริ่มเห็นความขัดแย้งของข้อมูลต่างๆ ผลของการวิเคราะห์เหล่านั้น  รวมถึงปัจจัยที่ทำให้การวิเคราะห์นั้นไม่เป็นจริง (ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่วิเคราะห์ ) ซึ่งจะเห็นว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น ไม่มีใครวิเคราะห์ถูกทุกครั้ง 

อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ถูกเพียงครึ่งเดียว ก็อาจทำให้อยู่รอดในตลาดการลงทุนได้แล้ว  การฟังและคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง คัดแยก ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นนี้เป็น ความสามารถอีกด้านหนึ่ง ที่จะได้มาด้วย จากเข้ามาอยู่ในตลาดทุน  เมื่อเราจะตัดสินใจสิ่งต่างๆ เช่นการเลือกโรงเรียนให้ลูก  การเลือกที่พักอาศัย เลือกสถานที่ท่องเที่ยว  จะทำให้เรารู้จักรอ  หาข้อมูลให้มากที่สุด รู้ว่าข้อมูลนั้นมาจากใคร มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่มีข้อมูลเสมอ

จะเห็นได้ว่าจาการเรียนรู้ด้านการลงทุนที่เป็นเรื่องจริงจังนั้น  กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองด้านต่างๆ เพื่อรองรับวิธีการในการลงทุน และในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น  ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับมาที่การดำเนินชีวิตโดยอัตโนมัติเป็นผลพลอยได้ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องกำไรขาดทุน   

ทั้งหมดนี้ เราต้องปฏิบัติเพื่อเห็นจริงด้วยตนเอง หนักแน่นต่อคำโฆษณา และอารมณ์โลภ กลัว จากการชักจูงต่างๆ เพื่อปฏิบัติได้ตามแผนและข้อมูลของตนเอง และจะนำไปสู่การลงทุน และตัดสินใจเรื่องต่างๆ  ในแบบของตัวเองที่ปฏิบัติได้อย่างมีความสุขต่อตนเองและคนรอบข้างอย่างยั่งยืน