รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 1) :ไม่มีข้อมูลใดที่เชื่อถือได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์

06 เม.ย. 2567 | 05:11 น.

รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 1): ไม่มีข้อมูลใดที่เชื่อถือได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ :คอลัมน์ Investing Tactic น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP คิดอ

หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และต้องใช้ความรู้ความคิดมากมายเป็นส่วนประกอบ ในระหว่างที่เราเรียนรู้และฝึกฝนอยู่นั้น 
      หลายครั้งเกิดคำถามขึ้นว่า คิดมากไปหรือเปล่า  
      หรือหลายครั้งเกิดเหตุการณ์ผิดพลาด เราคิดน้อยหรือเปล่า  
เราลองมาแจกแจง ตามที่ผู้รู้ได้เคยให้ข้อมูลไว้  เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิด และปรับปรุงให้ มีความสุขในการลงทุนระยะยาวกันครั:

ในการคิดแต่ละเรื่องนั้น ถ้าเราต้องการคิดให้รอบคอบได้ทุกแง่มุมเพื่อลดความผิดพลาด เราต้องคิดทีละมุมมอง และมีระบบการจดบันทึก เป็นแผนภาพ หรือตัวหนังสือ เพื่อไม่ให้เราลืมสิ่งที่คิดเอาไว้  โดยอาจต้องสวมบทบาท (role) ในแต่ละวิธีคิดเพื่อให้คิดได้ลึกและกว้างขึ้นในแต่ละด้าน เช่น  
     เป็นนักเก็บข้อมูลต้องช่างสังเกตและแยกแยะข้อมูลได้มากและรวดเร็วโดยไม่ลำเอียง   
     คิดเชิงบวกมองหาข้อดีให้ได้แบบสุดโต่ง   
     คิดจับความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ ใช้อารมณ์แบบลำเอียงได้สุดๆ   
     คิดหา จุดบกพร่อง พยายามติตำหนิ หาข้อเสียจากข้อมูลที่วิเคราะห์ 
     และสุดท้ายคือคิดหาข้อสรุปเพื่อการตัดสินใจจากการคิดทุกๆ มุมก่อนหน้า ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุด เป็นต้น
รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 1) :ไม่มีข้อมูลใดที่เชื่อถือได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์

การคิดเลยต้องใช้สมาธิ ยอมเสียเวลามานั่งคิดไปทีละขั้นตอน แบ่งงานเป็นช่วงๆค่อยๆคิด   เราจะมาลองแบ่งออกว่า  ตอนเราคิดนั้น เราคิดด้วยลักษณะไหนอยู่บ้าง 

  • คิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)  สิ่งที่ต้องมีก่อนที่จะคิดวิเคราะห์ได้ คือ “ข้อมูล” ข้อมูลควรได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ก่อนที่จะนำมากรองเป็นครั้งๆไปว่าใช้ได้หรือไม่  

การคิดวิเคราะห์ คือ การนำข้อมูลมา “จัดเรียงอย่างเป็นระบบ” ด้วยการแบ่งตามเงื่อนไขที่เราต้องการจะศึกษา  

    รูปแบบ ( pattern ) การเกิดซ้ำๆ ของข้อมูล

    แนวโน้มความเป็นมาและน่าจะเป็นต่อไป 

เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่นการนำข้อมูลราคาเปิดปิดมาจัดเรียงให้เป็นกราฟ  หรือการเรียงข้อมูลของผลที่เกิดกับตลาดหุ้น หลังจาก FED ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาจัดเรียงเพื่อวิเคราะห์งบการเงินรายบริษัท เพื่อดูทิศทางการเจริญเติบโต  และประเมินความเสี่ยง จากความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่างๆ เพราะในโลกการลงทุน เหตุอย่างหนึ่งไม่ได้ส่งให้เกิดผลอย่างเดียว และผลก็ไม่ได้เกิดจากเหตุเพียงอย่างเดียว

  • คิดสร้างสรรค์ ( Creative thinking ) การคิดเพื่อ”สร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แตกต่างจากที่เคยเป็นมา” 

จากมุมมองที่แตกต่าง หรือนอกกรอบกติกาที่เคยทำมา ต้องทำการฝึกจากการวางบทบาทว่า ถ้าเราเป็นคนอื่น   หรือเมื่ออารมณ์เปลี่ยนไป จะสร้างมุมมองที่ต่างกัน 

เพื่อจะสร้างระบบหรือหาโอกาสที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็น เช่น หาโอกาสลงทุนในบริษัทที่อาจมีอนาคตแต่คนอื่นยังไม่เห็นไม่เข้าใจในตัวธุรกิจ ใช้คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ให้กับตัวเอง 

วางเป้าหมายใหม่ๆที่อาจไม่เคยคิดถึงแล้วหาวิธีที่จะทำ คิดหาสูตรคำนวนใหม่ๆ ในการสร้างความสมดุลให้ พอร์ตการลงทุน เป็นต้น

  • การคิดเชิงวิพากษ์ ( Critical Thinking ) คือการคิดโดยใช้วิจารณญาณเพื่อ”พิจารณาตีความ ข้อมูลหรือ ความเชื่อที่ได้มาว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด”  โดยใช้

      การตั้งคำถาม 

      ตั้งข้อสงสัย ที่ง่ายที่สุดในทุกๆจุด 

      คิดมุมกลับ ด้วยมุมมองที่แตกต่าง เพื่อลดอคติ ความลำเอียงส่วนตัว  

      และได้ภาพรวมที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

ในกระบวนการนี้ อาจไม่ใช่แค่ตั้งคำถาม แต่รวมถึง ต้องพยายามหาข้อมูลมาตอบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้คนมีความเห็นไปในทางเดียวกันมากๆ ต้องมี ระบบ เอ๊ะ! เพื่อจะระมัดระวังการตัดสินใจของตนเอง และเพื่อกลับมาหาข้อมูลก่อน

ในการลงทุนเรานำมาใช้ในการจับผิดระบบการเทรดของตนเองว่ามีส่วนใดที่เราอธิบายไม่ได้ หรือหยวนๆ ผ่านไปโดยที่ไม่ทราบที่มาที่ไปหรือไม่ ใช้กับขั้นตอนสุดท้ายก่อนการตัดสินใจบนข้อมูลที่มีได้ในขณะนั้น รวมถึงนำมาใช้หาความสมเหตุสมผลของข้อมูลจากแหล่งข่าวหรือนักวิเคราะห์ ที่ได้มาว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนก่อนเก็บไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ 

คิดไว้เสมอว่า ไม่มีข้อมูลใดที่เชื่อถือได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง