ข้ามเส้นทางครึ่งแรกปี 2567 นับก้าวสู่กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง

01 ก.ค. 2567 | 09:57 น.

ข้ามเส้นทางครึ่งแรกปี 2567 นับก้าวสู่กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง: คอลัมน์มันนี่ ดีไอวาย โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยังคงซบเซาจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยภายนอก คงหนีไม่พ้นเรื่องความคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อาจจะไม่เร็วและมากเท่ากับที่ตลาดคาดเอาไว้แต่เดิม ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ประมาณ 4.7% จาก 3.9% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว กดดันสภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นทั่วโลกและรวมถึงตลาดหุ้นไทย

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเพิ่มเติมที่เป็นเรื่องภายในประเทศมีความล่าช้าในการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งสะท้อนมายังภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทำให้ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับ 2.7% ในไตรมาสแรกของปี 2566  หรือเทียบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่คาดว่าจะโตประมาณ 2.5%

ข้ามเส้นทางครึ่งแรกปี 2567 นับก้าวสู่กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง

แม้ภาพรวมในช่วงครึ่งแรกจะยังดูไม่สดใสนัก แต่ยังคงมีความคาดหวังว่า ตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ขึ้น และอาจจะพูดได้ว่า ‘การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว’ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของไตรมาสที่ 2 นี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น รายจ่ายลงทุนภาครัฐในเดือนเมษายนเริ่มส่งสัญญาณการติดลบที่ลดลง (-12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) และดีขึ้นจากติดลบกว่า 60% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน

ขณะที่ ภาคการส่งออกก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน โดยการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ มีการขยายตัว 8.6% ในเดือนเมษายน เทียบกับติดลบ 0.6% ในไตรมาส 1 เช่นเดียวกันกับภาคการผลิตที่มีการขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) ฟื้นตัว 3.4% จากเดือนเดียวกันปีก่อน เทียบกับติดลบ 3.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งเครื่องมือชี้วัดทางเศรษฐกิจเหล่านี้ กำลังสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ คาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมออกมา โดยเฉพาะมาตรการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น โครงการเงินโอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ หรือเกษตรกร รวมถึงโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่บางโครงการเริ่มเกิดออกมาแล้ว อาทิ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองที่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

อีกทั้ง รัฐบาลกำลังผลักดันมาตรการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ออกมาให้ได้ภายในเร็ววัน โดยล่าสุด อาจจะเริ่มทยอยแจกเงินกลุ่มเปราะบาง ที่มีจำนวนกว่า 14 ล้านคนก่อน โดยเป็นการใช้งบประมาณของปีนี้ และหากการบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น ก็จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังจากพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักมาเป็นเวลานาน

อันที่จริง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 1 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยภาพรวมกำไรในไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 50% (ประมาณ 2.65 แสนล้านบาท; ที่มาข้อมูล: ภาพรวมผลปรกอบการไตรมาส 1/67, SETSOURCE) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยแรงหนุนการฟื้นตัวมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการบริโภคและสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ดังนั้นหากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น จะมีโอกาสผลักดันให้ตลาดและการเติบโตด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนให้ SET ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยตลาดมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปที่เป้าหมายที่ระดับประมาณ 1,500 จุด

ดังนั้น สำหรับราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาในปัจจุบัน จึงถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมเพื่อรอการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมองว่ากลุ่มค้าปลีกยังคงเป็นกลุ่มหลักที่คาดว่ามีโอกาสจะฟื้นตัวได้ดี โดยยอดขายของบริษัทค้าปลีกส่วนใหญ่ยังฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านยอดขายยังติดลบ

หากการบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น ยอดขายของกลุ่มนี้จะฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน กลุ่มที่กำไรแข็งแกร่งอยู่แล้วอย่างท่องเที่ยวและโรงพยาบาล ก็มีแนวโน้มจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปถึงครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มจะเห็นราคาหุ้นปรับได้ดีขึ้นกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระยะยาวยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อ เพราะอาจจะมีผลต่อบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ รัฐบาลกำลังเชิญชวนให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาลงทุนทำ Data Center ในประเทศ และส่งผลบวกต่อรายได้ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง (รับเหมาทำระบบ และนิคมอุตสาหกรรม) หรือนโยบายที่จะปลดล็อคธุรกิจคาสิโนในประเทศ ก็อาจจะส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงแรมเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นบรรยากาศความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด และอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้