การบริหารความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ TFEX

09 ก.ค. 2567 | 09:34 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 09:34 น.

การบริหารความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ TFEX (Thailand Futures Exchange) : คอลัมน์ Investing Tactic โดย นายสาวิทย์ สมปอง (โค้ชวิทย์) วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

การลงทุนในตลาดอนุพันธ์นั้นมีโอกาสสูง แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ต้องการการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การลงทุนมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายขั้นตอน ดังนี้

 ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด คือการระบุความเสี่ยง โดยต้องสามารถระบุได้ว่าเป็นความเสี่ยงแบบใด

  • ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk)
  • ความเสี่ยงจากเครดิต (Credit Risk)
  • ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน (Operational Risk)
  • ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
  • ความเสี่ยงทางกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal and Regulatory Risk)
  • ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systemic Risk) 

ซึ่งแต่ละประเภทของความเสี่ยงเหล่านี้มีผลกระทบที่แตกต่างกันไป เนื่องจากการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ TFEX (Thailand Futures Exchange) อาจดูซับซ้อนและเต็มไปด้วยความเสี่ยง การทำความเข้าใจและระบุความเสี่ยง จึงทำให้นักลงทุนสามารถจัดการและลดความเสี่ยงลงได้

ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk)

ความเสี่ยงจากตลาดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ในตลาด อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ข่าวสำคัญที่มีผลต่อการลงทุน สงคราม หรือราคาน้ำมันที่ขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถส่งผลต่อมูลค่าของสัญญาอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องได้

ความเสี่ยงจากเครดิต (Credit Risk)

ความเสี่ยงจากเครดิตคือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาไม่สามารถชำระหนี้ หรือปฏิบัติตามข้อตกลงได้ เช่น ในตลาดอนุพันธ์มีการเรียกหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin - IM) ซึ่งเป็นจำนวนเงินประกันขั้นต้นที่โบรกเกอร์กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องวางไว้ในบัญชีอนุพันธ์ก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขายได้ และจะมีการปรับขึ้นลงตามสภาพตลาด

อีกทั้งยังต้องมีหลักประกันรักษาสภาพ Maintenance Margin (MM)  คิดเป็น 70% ของหลักประกันขั้นต้น ถ้ามีการบริหารจัดการไม่ดี ในช่วงตลาดผันผวน โบรกเกอร์มีการปรับหลักประกันขั้นต้น ทำให้ไม่สามารถคงเงินหลักประกันตามที่ตกลงไว้ได้ ทำให้ต้องมีการบังคับปิดสถานะ (Force Close)

การบริหารความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ TFEX

ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน (Operational Risk)

ความเสี่ยงจากการดำเนินงานเกิดจากข้อผิดพลาดภายในองค์กร เช่น ข้อผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ การทำงานของพนักงาน หรือกระบวนการภายในที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ล่มทำให้ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ตามเวลาที่กำหนด แม้กระทั่ง สัญญาณ internet ขัดข้อง ก็ถือเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

ความเสี่ยงจากสภาพคล่องเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถซื้อหรือขายสินทรัพย์ได้ทันทีในราคาที่เหมาะสม เช่น ตลาดมีปริมาณการซื้อขายต่ำ ทำให้ขายสัญญาอนุพันธ์ได้ยากและต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดหวัง 

ความเสี่ยงทางกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal and Regulatory Risk)

ความเสี่ยงทางกฎหมายและกฎระเบียบเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุน เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีที่มีผลกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุนในสัญญาอนุพันธ์ การสนับสนุนโครงการบางอย่างของภาครัฐที่ส่งผลดีกับกลุ่มธุรกิจนั้นๆ

ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systemic Risk)

ความเสี่ยงที่เป็นระบบเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั้งหมด เช่น วิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดทั้งหมดได้รับผลกระทบ เช่น วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ค.ศ. 2008 ( Hamburger Crisis ) ที่ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความไม่มั่นคง 

การระบุความเสี่ยงเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถเตรียมตัวและวางแผนการจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หลังจากระบุความเสี่ยงแล้วจะเป็นขั้นตอนของ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยงจะช่วยให้เราเข้าใจระดับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ใช้การจำลองสถานการณ์ต่างๆ ( Monte Carlo Simulation) เพื่อจำลองผลกระทบของความเสี่ยงต่างๆ ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมและแนวโน้มได้ชัดเจนขึ้น

ถัดมาคือ การวางแผนการจัดการความเสี่ยง การวางแผนการจัดการความเสี่ยงเป็นขั้นตอนสำคัญในการลดผลกระทบของความเสี่ยง โดยการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง เช่น ใช้การกระจายความเสี่ยง หรือการทำประกันความเสี่ยง การพักเงิน หรือ ถือเงินสดเพื่อรอความชัดเจนก็ถือเป็นแผนการในการจัดการความเสี่ยงเช่นกัน

เมื่อมีแผนแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การดำเนินการและควบคุมความเสี่ยง การดำเนินการตามแผนและการควบคุมความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด โดยติดตามและตรวจสอบผลลัพธ์ของการดำเนินการ

จากนั้นคือ การติดตามและรายงานความเสี่ยง การติดตามและรายงานความเสี่ยงจะช่วยให้เรามีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถปรับปรุงการจัดการความเสี่ยงได้อย่างต่อเนื่อง 

สุดท้ายคือ การประเมินผลและปรับปรุง การประเมินผลและปรับปรุงการจัดการความเสี่ยงเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารความเสี่ยงนั้นมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในตลาดได้อย่างเหมาะสม 

การบริหารความเสี่ยงในตลาด TFEX ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยการระบุ วิเคราะห์ วางแผน ดำเนินการ ควบคุม ติดตาม และปรับปรุงความเสี่ยงอย่างมีระบบ จะช่วยให้การลงทุนของเรามีแนวทางที่ดี และสามารถตัดสินใจในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น