รู้จัก Market Maker ทำไมคลังต้องยกเว้นภาษีขายหุ้น

02 ธ.ค. 2565 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 11:41 น.

ทำความรู้จัก Market Maker บทบาทและประโยชน์ต่อตลาดทุน ทำไมกระทรวงการคลังจึงต้องยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กลุ่มนี้ เป็นการเอื้อให้กับนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่ หาคำตอบที่นี่

 

จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% ตามกฏหมายเดิม โดยในปีแรกจะจัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่งหรือในอัตรา 0.055%  และจะให้เวลาเตรียมตัว 3  เดือนก่อนเริ่มเก็บจริง 

 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ยกเว้นการเก็บภาษีขายหุ้นให้กับ กองทุนบำนาญต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณอายุ เช่น ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึง Market Maker  

 

ยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กับ Market Maker เอื้อนักลงทุนรายใหญ่จริงหรือ?

 

การยกเว้นภาษีการขายหุ้นให้กับ Market Maker เป็นการเอื้อนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่นั้น ?  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเรื่องนี้ว่า อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ยังไม่ตรงกันในส่วนของ Market Maker  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาด ไม่ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่  โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)  เป็นผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกการซื้อการขาย และที่ต้องมี Market Maker เพราะบางทีมีหุ้นใหม่ออกในตลาด  Market Maker ก็ต้องทำหน้าที่ว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดที่ออกมาใหม่ หรือในสิ้นวันของการเทรดก็ต้องดูว่าสภาพคล่องกระจาย หรือกระจุกส่วนไหนเพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน"
 

อ่านเพิ่ม :  “อาคม" ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่เอื้อรายใหญ่

 

Market Maker สำคัญอย่างไรบทบาทในตลาดทุน

 

และเพื่อจะทำความเข้าใจ "Market Maker" ให้มากขึ้น ว่ามีหน้าที่และมีประโยชน์ต่อตลาดทุนอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจาก ก.ล.ต. กล่าวถึงบทบาทของผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ดังนี้.

 

ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงตลาดทุน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการระดมทุนแล้ว เรามักจะมองไปถึงการมี “ตลาดรอง”ที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น  ตราสารทุน (หุ้นสามัญ) , ตราสารหนี้ (หุ้นกู้) และ หน่วยลงทุนต่าง ๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ก็มีตลาดรองที่เรียกว่า “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล

 

วัตถุประสงค์สำคัญของตลาดรอง คือ การให้ผู้ถือหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ สามารถเข้ามาซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตามความต้องการของผู้ลงทุน/ผู้ซื้อขาย การมี “สภาพคล่อง” จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะมาช่วยให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถซื้อหรือขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลได้เมื่อต้องการ 

 

Market Maker จึงมีความสำคัญในการดูแล สภาพคล่องให้หลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการตั้งราคารับซื้อ (bid) และตั้งราคาขาย (offer) ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดสะท้อนความต้องการของผู้ลงทุนอย่างแท้จริง 

 

ทั้งนี้ในการทำหน้าที่ Market Maker จะได้รับค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์จากการทำหน้าที่ เช่น การลดค่าคอมมิชชั่น จากตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งอาจได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการทำธุรกรรมซื้อขายด้วย
 

 

ก.ล.ต. ระบุอีกว่า บทบาทของ Market Maker เสริมสภาพคล่องได้ แต่ห้ามทำ wash trading โดยในการทำหน้าที่ในการส่งคำสั่งของ Market Maker นั้น จะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวมหรือหาประโยชน์จากผู้ลงทุน และสิ่งสำคัญต้องไม่เป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

 

ในกรณีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายตลาด และราคาซื้อขายแตกต่างกันมาก กลไกการเข้าไปดูแลสภาพคล่องของ Market Maker ก็จะทำให้ราคาของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ซื้อขายในตลาดอื่น ผ่านกระบวนการ arbitrage* ( *การทำกำไรจากความแตกต่างของราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่ซื้อขายอยู่คนละตลาด)  โดยซื้อหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดที่ราคาต่ำกว่า (ราคาถูก) และไปขายในตลาดที่ราคาสูงกว่า (ราคาแพง) และเมื่อถึงจุดหนึ่งส่วนต่างราคาและโอกาสในการทำกำไรจาก arbitrage จะหายไป 

 

โดย Market Maker จะตั้งราคาเพื่อรองรับการซื้อขายกับผู้ลงทุน แต่จะไม่เข้าไปซื้อขายและจับคู่กันเอง เพื่อให้ราคาไปอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในลักษณะการชี้นำราคา และทำให้บุคคลทั่วไปสำคัญผิดทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นการทำเกินหน้าที่ เอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

 

นอกจากนี้ Market Maker ที่สร้างปริมาณเทียมโดยการจับคู่ซื้อขายกันเอง (Wash Trade) ซึ่งการกระทำดังกล่าวกระทำไปโดยธุรกรรมซื้อและขายที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ ทำโดยบุคคลเดียวกัน เพื่อลวงนักลงทุนว่าหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มีนักลงทุนซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก ตลาดคึกคัก แต่แท้ที่จริงปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้นเป็นของ Market Maker เอง ไม่ใช่ปริมาณการซื้อขายจริงที่เกิดจากนักลงทุน 

 

การกระทำดังกล่าว สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ลงทุน/ผู้ซื้อขาย ว่ามีปริมาณซื้อขายมากกว่าที่เป็นจริง ไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

 

ดังนั้น Market Maker จึงเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยดูแลให้หลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนและทำให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์