ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,743.84 จุด เพิ่มขึ้น 9.88 จุด หรือ +0.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,016.22 จุด ลดลง 0.73 จุด หรือ -0.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,313.36 จุด ลดลง 20.91 จุด หรือ -0.18%
หุ้น 5 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลง 1.36% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้น 0.74% และ 0.54% ตามลำดับ
หุ้นไมโครซอฟท์ ปรับตัวลง 0.59% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นไตรมาส 2 ในปีงบการเงิน 2566 อยู่ที่ระดับ 5.275 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.294 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า รายได้ในไตรมาส 3 ของปีงบการเงิน 2566 จะขยายตัวราว 3% สู่ระดับ 5.05-5.15 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.243 หมื่นล้านดอลลาร์
เอทีแอนด์ที ซึ่งเป็นบริษัทสื่อสารรายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2565 ที่ระดับ 3.134 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.138 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้ตลอดปี 2566 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
เจเนอรัล ไดนามิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่ เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ที่สูงกว่าคาด แต่บริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้ตลอดปี 2566 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นเจเนอรัล ไดนามิกส์ปิดตลาดร่วงลง 3.6%
บริษัทโบอิ้งเปิดเผยตัวเลขขาดทุนต่อหุ้นในไตรมาส 4/2565 ที่ระดับ 1.75 ดอลลาร์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีกำไรต่อหุ้น 0.26 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ 1.998 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.038 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยผลประกอบการของโบอิ้งได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัท 95 แห่งที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2565 แล้ว โดยในจำนวนนี้มี 67% ที่รายงานผลประกอบการดีเกินคาด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งมีบริษัทมากถึง 75% ที่รายงานผลประกอบการดีกว่าคาด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ของสหรัฐในวันนี้ และในวันพรุ่งนี้จะเป็นการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)