ส่องโผ 20 หุ้น ต่างชาติซื้อสวนในช่วง 1 สัปดาห์ ให้ยีลด์ชนะ SET

23 ก.พ. 2566 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 05:41 น.

ส่องโผ 20 หุ้น"ต่างชาติซื้อสวน" ในช่วง1 สัปดาห์ ให้ยีลด์เฉลี่ย 2.7% ชนะ SET หลังต้นปีมา โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยสุทธิ1.14 หมื่นล้านบาท ชู BAM, CBG, GULF หุ้น Top pick

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซียพลัส หรือ ASPS ระบุว่า ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มฤดูกาลประกาศงบไตรมาส 4/65 ช่วงปลายเดือนม.ค. 66 ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิรวมที่เคยสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท พลิกลงมาเป็นขายสุทธิสะสม 1.14 หมื่นล้านบาท หรือ -334 ล้านเหรียญ ( ytd ) และเป็นการขายสุทธิที่มากที่สุดในภูมิภาค 

สวนทางตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ที่ยังมีสถานะเป็นซื้อสุทธิ (ytd) อาทิ ไต้หวัน 8.1 พันล้านเหรียญ, เกาหลีใต้ 6.9 พันล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 72 ล้านเหรียญ และอินโดนีเซีย 13 ล้านเหรียญ
 

ฝ่ายวิจัย ASPS สังเกตเห็นและทำการศึกษา“เปรียบเทียบแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ กับการรายงานงบไตรมาส4/65 ที่สูงหรือต่ำกว่า Consensus” พบว่า มีทิศทางที่สอดคล้องกันเริ่มจากตลาดหุ้นไทยรายงานงบไตรมาส4/65 ออกมาแล้ว 222 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน Market Cap. 67% ลดลง 26%QoQ และ 33%YoY 

ที่สำคัญคือต่ำกว่าที่ Bloomberg Consensus คาด (Negative Surprise) ถึง -27% ต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ตามมาด้วยตลาดหุ้นไต้หวัน Negative Surprise -18% ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในเดือน ก.พ. ลดลงจากเดือน ม.ค. อย่างเห็นได้ชัด และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ Negative
Surprise -13% ต่างชาติก็สลับมาขายสุทธิในเดือน ก.พ. เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ งบไตรมาส4/65 รายงานออกมาเป็น Positive Surprise +36% Fund Flow ก็มีการไหลเข้าต่อเนื่องในเดือน ก.พ. และเป็นการซื้อสุทธิที่มากสุดในภูมิภาค 

 

20 หุ้นที่ต่างชาติซื้อสะสมมากสุดในช่วง 1 สัปดาห์

 

แม้ภาพรวม Fund Flow จะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ แต่ฝ่ายวิจัยฯ ได้เข้าไปดูรายละเอียดเป็นรายหุ้น พร้อมกับคัดออกมา 20 หุ้นที่ต่างชาติซื้อสะสมมากสุดในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 22 ก.พ. 66) ได้ผลลัพธ์ดังตารางทางด้านล่าง 

ส่องโผ 20 หุ้น ต่างชาติซื้อสวนในช่วง 1 สัปดาห์ ให้ยีลด์ชนะ SET

จากผลลัพธ์ 20 หุ้นที่ต่างชาติซื้อสะสมส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.7% ชนะ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% ซึ่งฝ่ายวิจัยชื่นชอบ ได้แก่

  • บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG),
  • บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB)
  • บมจ.สยามแม็คโคร ( MAKRO)
  • บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
  • บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE)
  • บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ ( BAM)
  • บมจ.ช.การช่าง (CK)
  • บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)
  • บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI)

โดย Top pick  เลือก BAM, CBG, GULF