นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขายไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลม จำนวน 160 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ว่า โครงการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนาม ยังอยู่ในระหว่างการเร่งเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม เพื่อเร่งดำเนินการเปิดขายไฟฟ้าในอัตราราคาที่ 8.5 เซ็นต์ (ดอลลาร์สหรัฐ)
หลังเกิดความล่าช้าจากการที่ยังไม่ได้ กำหนดวันจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) COD เนื่องจากทางอยู่ในระหว่างการต่อรองราคารับซื้อกับรัฐบาลเวียดนาม
รวมทั้งล่าสุดมีการแต่งตั้ง นายหวอ วาน เทือง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งอาจทำให้การเจรจามีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากนายหวอ วาน เทือง เป็นผู้ที่เข้าใจด้านการเงิน การลงทุน เชื่อว่าจะสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้เวียดนาม เป็นศูนย์กลางการลงทุน
ทั้งนี้ในปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน รวมทั้งการสำรองไฟฟ้าในระบบมีไม่ถึง 10% แตกต่างจากประเทศไทยที่มีการสำรองไฟฟ้าสูงถึง 50% ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องเร่งดำเนินการเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ข้อสรุปได้เร็วยิ่งขึ้น บริษัทและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 13 ราย ประกอบไปด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) BRE Singapore Eternity Power ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) และ บมจ.ราช กรุ๊ป
ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานภาครัฐของเวียดนามผ่านหอการค้าของไทยส่งตรงถึง รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปได้เร็วขึ้นภายในปลายปี 2566
“เราต้องการให้ COD ชั่วคราวทันที เพราะความต้องการไฟฟ้าราคาถูกเพิ่มขึ้นแล้ว แต่จ่ายค่าไฟเพียงครึ่งเดียวจนกว่าจะได้ข้อสรุปของราคามาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงาน (FIT) ถาวร ซึ่งตรงกับความคิดบริษัทที่ต้องการ ส่วนเรื่อง FIT ถาวร คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 7.35 – 7.75 เซ็นต์ ลดลงจากเดิมที่ 8.5 เซ็นต์ หรือลดลง 10-15%” นายยุทธ กล่าว
โดยบริษัท EP ได้ประมาณ โครงการไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 160 เมกะวัตต์ จากอัตราที่การไฟฟ้าเวียดนามเสนอใน 3 รูปแบบ
รูปแบบแรก FIT 0.0675 จะมีรายได้ 1,109.33 ล้านบาท EBITDA ที่ 950.63 ล้านบาท
รูปแบบที่ 2 ลดจากอัตราเดิม 15% จะมีรายได้อยู่ที่ 1,187.39 ล้านบาท EBITDA อยู่ที่ 1,028.69 ล้านบาท
รูปแบบที่ 3 ลดจากอัตราเดิม 10% จะมีรายได้ 1,257.24 ล้านบาท EBITDA อยู่ที่ 1,098.54 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนสุทธิเป็นเงิน 272.04 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ยจ่าย จำนวน 261.33 ล้านบาท โดย 250 ล้านบาท ใช้สำหรับโครงการลมที่ยังไม่ได้ COD ขณะที่ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จำนวน 62.49 ล้านบาท เมื่อโครงการลม COD แล้ว ซึ่งจะส่งผลทำให้บรัทกลับมามีกำไรอย่างไรก็ตามแม้ในปีที่ผ่านมาบริษัทจะขาดทุนแต่ D:E กลับลดลงเป็น 1.12 จาก 1.19 เท่า ส่วน B.V. อยู่ที่ 4.08 บาท
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 877.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.42% โดยสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีรายได้ 681.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และรายได้ทางตรงจากธุรกิจไฟฟ้า เพิ่มขึ้นกว่า 145% แต่เนื่องจากยังไม่มีรายได้จากโครงการไฟฟ้าพลังงานลมเข้ามา ทำให้บริษัทฯขาดทุนสุทธิ (ส่วนของบริษัท) เป็นเงิน 272.04 ล้านบาท
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจ โดยธุรกิจสิ่งพิมพ์คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 20% หลังสามารถปรับราคาขายได้ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้น และอัตรากำไรขั้นต้นก็จะกลับสู่สภาวะปกติที่ประมาณ 15% ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับรู้รายได้จากโครงการที่มีอยู่ในประเทศ ที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า