ตีกลับ เก็บภาษีขายหุ้น คาดบังคับใช้ไม่ทันพ.ค.66

04 มี.ค. 2566 | 01:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2566 | 01:42 น.

“อาคม” ตั้งทีมวิเคราะห์ภาษีขายหุ้น หลังสำนักงานเลขาครม. รับข้อเสนอ FECTO ส่งร่างกฎหมายคืน “คลัง” ให้นำกลับมาศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง หวังฐานเสียงก่อนเลือกตั้ง คาดบังคับใช้ไม่ทันพฤษภาคม 2566 ตามแผน

ยังเป็นที่จับตาของนักลงทุนในตลาดทุน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax)ที่ 0.11% (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ 0.01% ) ของมูลค่าการขาย โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยช่วงแรก ปี 2566 จะจัดเก็บในอัตรา 0.055% (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ 0.005%) ของมูลค่าการขาย และจะเก็บที่อัตราปกติตั้งแต่ปี 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

การจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นในประเทศต่าง

ทั้งนี้ อัตราภาษีขายหุ้นดังกล่าวเป็นภาษีเฉพาะภายใต้ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และได้รับการยกเว้นตั้งแต่ปี 2535 

ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สำนักงานเลขาครม.ได้ส่งคืนร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่... พ.ศ...หรือ ภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มายังกระทรวงการคลัง หลังจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) ได้ส่งหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เมื่อเรื่องภาษีขายหุ้นส่งคืนมาแล้ว กระทรวงการคลังจะตั้งทีมงาน เพื่อมาวิเคราะห์และนำข้อเสนอแนะของ FETCO มาประกอบพิจารณาอีกครั้ง ส่วนจะทันประกาศใช้ภายในกลางปีนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ต้องรอการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ” นายอาคมกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ภาษีขายหุ้นจะสามารถดำเนินการเริ่มเก็บภาษีได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากที่ครม. ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ในอัตรา 0.11% ของมูลค่าการขายหุ้น โดยในปีแรกให้นักลงทุนปรับตัว ซึ่งจะจัดเก็บในอัตรา 0.055% ส่วนปีถัดไปจัดเก็บเต็มอัตรา 0.11 %

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีหุ้นได้ผ่านขั้นตอนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจร่างกฎหมายภาษีให้ถูกต้องแล้วในเดือนมกราคม 2566 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งคืนร่างกฎหมายมายังสำนักงานเลขาธิการครม.เพื่อเตรียมนำเสนอทูลเกล้าฯ ตามลำดับการประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ นั้น ทาง FETCO ได้ทำหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมายังรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องชะลอการนำเสนอทูลเกล้าฯ และได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงการคลัง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้าทาง FETCO ก็ยื่นหนังสือคัดค้าการเก็บภาษีหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้สำนักงานเลขาครม. จึงให้นำข้อเสนอมาประกอบพิจารณาใหม่

“การนำเข้าเสนอของ FETCO มาพิจารณาประกอบในการเก็บภาษีหุ้นใหม่นี้ จะทำให้แผนการประกาศใช้ภาษีขายหุ้น ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องเริ่มขบวนการประเมินการเก็บภาษีหุ้นใหม่อีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นการคัดค้านของ FETCO แล้วยังมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ยุบสภาฯ ทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพราะมีความกังวลว่า จะกระทบต่อฐานเสียง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง

ส่วนแนวคิดในการจัดเก็บภาษีขายภาษีหุ้นนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการลดความเหลื่อมล้ำการจัดเก็บภาษี เพราะที่ผ่านมา ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมานานกว่า 40 ปี เพื่อสนับสนุนตลาดทุนไทยเติบโต และในปัจจุบันตลาดหุ้นไทย ถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องยกเว้นภาษีขายหุ้นอีกต่อไปและการกลับมาเก็บภาษีขายหุ้น จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 16,000-18,000 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566