FETCO หวั่นเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย กระทบตลาดหุันโลกป่วน กดดัชนีเชื่อมั่น

08 มี.ค. 2566 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2566 | 06:55 น.

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยกระทบตลาดทุน คาดจ่อขึ้น 0.5% รอบนี้ และทั้งปีอาจขยับใกล้ 6% กดความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับสู่เกณฑ์ร้อนแรง หวังท่องเที่ยว-เลือกตั้งหนุน

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ประธานเฟดเมื่อคืนแถลง  กล่าวย้ำว่า อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเป้าหมายที่ 5.10% ในปี 66 ขณะที่ตลาดคาดการณ์อาจปรับเพิ่มแตะ 5.75-6.00%  เพื่อควบคุมเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังเพิ่มสูง หลังเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 66 เพิ่ม 0.5% จาก 0.1% ในเดือนธันวาคม 65 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ อาจต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% รอบถัดไป (22 มี.ค.66) จากรอบก่อนที่ปรับเพิ่ม 0.25% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน รวมถึงตลาดหุ้นไทย

FETCO คาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปี 66 นี้ และการทำสงครามกับเงินเฟ้อของสหรัฐ คาดอาจต้องกินเวลา 3 ปี  

FETCO หวั่นเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย กระทบตลาดหุันโลกป่วน กดดัชนีเชื่อมั่น
 

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า"ดัชนี ฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"  นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของ Covid-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม 2566) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 121.13
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหมืองแร่ (MINE)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

 

ทั้งนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 SET Index ปรับตัวลดลงโดยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก นักลงทุนมีความกังวลว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเอของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศห่างกันชัดเจน

โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับตัวลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กว่า 43,562 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของ  FED ปัญหาการจ้างงานจากแนวโน้มการลดคนอย่างต่อเนื่องของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย—ยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมานานการ 1 ปี และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ—จีน จากปัญหา “บอลลูนจีน” ที่รุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจลุกลามไปเรื่องสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ

 ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและนักท่องเที่ยวไทยจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ช่วงก่อน Covid-19 ได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง