ถ้าย้อนอายุกลับไปที่ประมาณ 25 ปีได้ ผมจะลงทุนอย่างไรในวันนี้?

11 มี.ค. 2566 | 23:59 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 00:39 น.

วันที่ 11 มีนาคม 2566 ผมได้ไปพูดให้กับนักลงทุนในงานสังสรรค์ประจำปีของสมาคมไทย VI ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน โดยหัวข้อที่จะพูดนั้นเป็นการตอบคำถามที่ผู้เข้าร่วมส่งมาล่วงหน้าและรวบรวมตอบโดยพิธีกรบนเวที

คำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและคนจำนวนไม่น้อยน่าจะอยากรู้ก็คือ ถ้าผมย้อนอายุลงมาเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่งในวันนี้  ผมจะใช้กลยุทธ์การลงทุนอย่างไร?

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้  ผมอยากจะเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศและคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมงานสัมมนาสังสรรค์ประจำปีที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังโควิด-19 สงบ ซึ่งก็พบว่าคนเข้าร่วมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  คนส่วนมากเป็นคนที่มีอายุประมาณน่าจะ 30 ปีบวกลบ  ซึ่งเป็นวัยที่ทำงานมาได้ระยะหนึ่งและสนใจเรื่องของการลงทุนมาก  พวกเขาน่าจะมีการศึกษาสูงอย่างน้อยปริญญาตรีและปริญญาโท  มีอาชีพการงานที่มีเงินเดือนดี  และมีจำนวนคนเข้าร่วมเป็นผู้หญิงมากขึ้นมาก  คนสูงอายุระดับ 40-50 ปีขึ้นไปอย่างที่ผมเคยพบในยุคซัก 4-5 ปีก่อนที่ชอบเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรีมีน้อยมาก

พูดง่าย ๆ  นี่คือกลุ่มของ  “อีลิท” รุ่นใหม่ที่เอาจริงเอาจังกับการลงทุนและอยากรวยจากตลาดหุ้น  เหมือนกับ “เซียนหุ้น” รุ่นก่อนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จอย่าง “มหัศจรรย์” ซึ่งรวมถึงผมด้วย  และนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงถามคำถามนี้  เขาอยากรู้ว่าผมที่ประสบความสำเร็จในยุคที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยกำลังรุ่งเรืองจนถึงประมาณอย่างน้อย 10 ปีก่อน จะทำอย่างเดิมหรือใช้กลยุทธ์แบบเดิมไหม?  และเพราะอะไร?
 

คำตอบของผมก็คือ  ประเทศไทย  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย  น่าจะผ่านจุดที่รุ่งเรืองมากมาแล้ว  สถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยที่เหตุผลสำคัญก็คือ  โครงสร้างประชากรไทยที่คนแก่ตัวลงมาก  คนสูงอายุเกษียณจากงานที่มีรายได้สูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนเป็นล้านคนต่อปี ซึ่งทำให้รายได้ที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตของ GDP ลดลงมาก  ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาทำงานมีรายได้ต่ำและมีจำนวนน้อยลงมากเพราะกลุ่มคนในรุ่นหลังนั้นแต่ละปีมีจำนวนแค่ 7-800,0000 คน และอนาคตก็จะเหลือแค่ปีละ 500,000   เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วมีจำนวนลดลงมาอย่างรวดเร็วเหลือแค่ 5-600,0000 คน

วิธีที่จะรักษารายได้ของคนทั้งประเทศให้สูงขึ้นก็คือการเพิ่มเงินเดือนให้คนทำงานมีรายได้มากขึ้นชดเชยกับรายได้ที่ลดลงเพราะคนแก่ตัวและคนเกิดน้อยลง  แต่นี่ก็อาจจะทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ  เพราะถ้าเงินเดือนหรือรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ประสิทธิภาพการทำงานไม่เพิ่มขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่งทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่มีประโยชน์  และนั่นก็จะทำให้เศรษฐกิจหรือ GDP ไม่เติบโต  และถ้า GDP ไม่เติบโต  ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็จะเติบโตได้ยาก  ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ไปไหน  และนั่นก็ทำให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ไม่ไปไหน  การเลือกซื้อหุ้นเป็นรายตัวก็จะยากขึ้นมาก  และการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนับจากวันนี้ก็อาจจะต้องเป็นการเทรดหรือซื้อขายหุ้นที่ไม่โต  ต้องซื้อหุ้นที่ตกลงมาแรงและรอขายจังหวะที่มันจะขึ้น  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
 

ดังนั้น  ถ้าผมอายุ 25 หรือ 30 ในวันนี้  สิ่งที่ผมจะทำก็คือ  ผมคงต้องไปเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามที่ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็วคล้าย ๆ กับประเทศไทยเมื่อซัก 15-20 ปีก่อน และผมก็คงใช้กลยุทธ์แบบที่เคยทำในช่วงเวลานั้น  คือลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” โดยไม่คำนึงถึงปัญหาระยะสั้นที่เกิดภาวะวิกฤติในตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงเวลานี้  แล้วก็ถือยาวอาจจะเป็นอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปเมื่อหุ้นเหล่านั้นโตขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นหุ้นใหญ่หรือหุ้นยักษ์อย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย

วิธีการเลือกหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็คงทำอย่างที่ผมเคยทำในตลาดหุ้นไทยนั่นคือ หาเมกาเทรนด์ในเวียตนามในช่วงเวลานี้  ซึ่งก็เป็นในแทบทุdอุตสาหกรรม อาทิ ค้าปลีกสมัยใหม่ ช็อปปิงมอล  ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จะมาแทนที่ตลาดสด  สนามบิน  โรงแรมและโรงพยาบาล  ซึ่งเป็นสิ่งที่คนที่รวยขึ้นอย่างรวดเร็วต้องการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ    นอกจากนั้น  เวียตนามเองก็ยังมีภาคธุรกิจแนว  “ไฮเท็ค” ที่สามารถแข่งขันได้กับทั่วโลก  เช่น ธุรกิจรับจ้างเขียนโปรแกรมระบบคอมพิวเตอร์ให้กับธุรกิจและเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ  ให้กับบริษัทระดับโลกอื่น ๆ  โดยที่เวียตนามทำได้เพราะคนเวียตนามมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์สูงแต่ต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าคู่แข่งมาก

ถัดจากเรื่องของเมกาเทรนด์แล้วก็คือต้องหา“ผู้ชนะ” ในอุตสาหกรรมให้พบ ซึ่งเวลานี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีบริษัทที่กำลัง “นำ”อยู่ในหลายอุตสาหกรรม  
แม้ว่าช่วงนี้หลายบริษัทก็กำลังประสบปัญหาจากเหตุการณ์ “ชั่วคราว” ที่เกิดเรื่องของการจับคนทำผิดและคอร์รัปชันของทางการ ซึ่งส่งผลให้ตลาดพันธบัตร “ล่มสลาย” และทำให้บริษัทพัฒนาอสังริมทรัพย์จำนวนไม่น้อยล้มละลาย  เช่นเดียวกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งหมดนี้ คล้าย ๆ กับเป็นภาวะ  “Perfect Storm”  คือเรื่องเลวร้ายหลายเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกัน  ซึ่งทำให้หุ้นและดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาแรงมาก แต่นี่ก็ทำให้ “เกิดโอกาสครั้งใหญ่”

เพราะทำให้ราคาของหุ้นที่อยู่ในเมกาเทรนด์  และกำลังเป็นผู้ชนะ  มีราคาที่ถูกหรือยุติธรรมมาก  นั่นคือ  หุ้นมีค่า PE ปกติอยู่ในระดับไม่เกิน 20-25 เท่า  และเป็นหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน  มีการเติบโตระยะยาวในระดับ 2 หลัก  ซึ่งทำให้เข้าข่ายที่จะเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า  ที่ราคาอาจจะขึ้นไปได้อีกหลายเท่าตัว และนั่นก็คือสิ่งที่ผมจะทำถ้าวันนี้ผมอายุ 25-30 ปี  เริ่มมีเงินเหลือเก็บและลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตอีกเป็นสิบ ๆ ปี  และหวังว่าวันหนึ่งก่อนเกษียณตามเกณฑ์มาตรฐานผมอาจจะมีอิสรภาพทางการเงิน  หรือมีความมั่งคั่งเป็น “คนรวย”  หรือแม้แต่เป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีอย่างที่เซียนหุ้นหลายคนในตลาดหุ้นไทยเป็นในวันนี้

แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นอาจจะไม่จริง  สิ่งที่ผมคิดอาจจะไม่เกิดขึ้น  เวียตนามในอนาคตอาจจะไม่เหมือนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน  อุปสรรคมีร้อยแปด เช่น ระบบการปกครองที่ไม่เหมือนกันอาจจะทำให้เส้นทางเดินของเวียตนามไม่เป็นแบบไทยในวันนี้แต่ “ล้มเหลว” เพราะผู้ปกครอง “เปลี่ยนนโยบาย” กลับไปสู่ระบบเดิมและไม่มีใครไปขวางได้  เกิดเหตุไม่คาดคิดเช่น  เกิดสงครามระหว่างประเทศและเกี่ยวข้องกับเวียตนามที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยลง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในภาพใหญ่  เศรษฐกิจอาจจะตามไทยได้ทันตามแผน แต่ในภาพเล็กที่เป็นเรื่องของหุ้นนั้น  การเติบโตของธุรกิจและราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ดีอย่างในตลาดไทยที่ผู้นำสามารถ  “กินรวบ” จนรายได้และกำไรโตเร็วมากจนทำให้หุ้นขึ้นไปยาวนานและสูงมาก พูดง่าย ๆ  ไม่มีใครรับประกันได้ว่าทุกอย่างจะเหมือนเมืองไทยแม้ว่าลักษณะของประเทศเวียตนามและไทยรวมถึงผู้คนของทั้งสองประเทศจะคล้ายกันมากทางด้านของวัฒนธรรม

แต่ถ้าผมต้องเลือกระหว่างไทยกับเวียตนามในวันนี้ว่าอนาคตประเทศหรือตลาดหุ้นไหนจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  ผมคิดว่าเวียตนามน่าจะได้เปรียบมาก  ถ้าจะพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ  “เวียตนามมีลุ้นมากกว่า” มองในระดับ “อินเตอร์” ก็จะเห็นได้ชัดว่า  เวียตนามนั้น  เป็น “ตลาดแห่งอนาคต” ส่วนตลาดไทยนั้น  ดูคล้าย ๆ  กับ “อดีต” ที่เปลี่ยนแปลงยาก

สุดท้ายที่ผมอยากจะบอกก็คือ  ถึงผมจะเลือกไปลงทุนในตลาดเวียตนาม โอกาสที่ผมจะรวยแบบในตลาดหุ้นไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้านั้นก็น่าจะน้อยมาก  เพราะผมคิดว่า  ความร่ำรวยที่ได้จากตลาดหุ้นไทยในอดีตกว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น  “โชค” น่าจะมีส่วนเกิน 60-70% ขึ้นไป  โชคที่ว่าก็คือ  เราเริ่มลงทุนในช่วงเวลาที่เป็น “ยุคทอง” ของการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทย  ถ้าไม่ได้แย่เกินไป  ยังไงก็ชนะ  ยังไงก็รวย  ฝีมืออาจจะเป็นส่วนประกอบเท่านั้น  และต่อจากนี้จะทำไม่ได้อีกแล้ว