2 บลจ."แอสเซทพลัส-ยูโอบี"ยันวิกฤตแบงก์สหรัฐ กระทบพอร์ตเล็กน้อย

14 มี.ค. 2566 | 01:22 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 11:04 น.

บลจ.แอสเซทพลัส- บลจ.ยูโอบี ยันวิกกฤตแบงก์สหรัฐ กระทบพอร์ตเล็กน้อย ฝ่ายวิจัย ASPS เปิดข้อมูล SVB Bank ถือหุ้นบจ.ไทยใดบ้าง และมีกองทุนไหนเข้าลงทุน

 

จากกรณีที่ทางการสหรัฐสั่งปิดกิจการ 3 สถาบันการเงิน ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ Silvergate Capital Corp, Silicon Valley Bank ( SVB)  และล่าสุด Signature Bank 

ต่อเรื่องนี้  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)แอสเซท พลัส จำกัด (Asset Plus) ให้ข้อมูลกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เรื่องการปิดกิจการของบริษัn Silvergate Capital Corp.นั้น ทางบลจ. แอสเซท พลัส ขอเรียนว่า ปัจจุบันกองทุนของบลจ.แอสเซท พลัส  ASP-DIGIBLOC, ASP-DIGIBLOC-SSF และ ASP-DIGIBLOCRMF ไม่มีการลงทุนตรงในบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนมีการลงทุนในกองทุน VanEckDigital Transformation ETF (DAPP) มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ใน Silver gate อยู่ประมาณ 1% ( ข้อมูลจาก DAPP ณ วันที่ 8 มี.ค.2566) ดังนั้นจากเหตุการณ์การปิดกิจการ จะกระทบต่อพอร์ตของกองทุน ASP-DIGIBLOC, ASP-DIGIBLOC-SSFและ ASP-DIGIBLOCRMF ไม่เกิน 0.78%

 

2 บลจ.\"แอสเซทพลัส-ยูโอบี\"ยันวิกฤตแบงก์สหรัฐ กระทบพอร์ตเล็กน้อย

 

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีวิกฤติธนาคาร Silicon Vallay Bank (SVB) บลจ.ยูโอบี อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่แน่นอนจากลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ SVB ผ่าน Master fund ในกอง FIF แต่เบื้องต้นคาดว่า จะมีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนใน Master Fund  ซึ่งไม่ใช่การลงทุนที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยกระทบกับภาพรวมตลาดมากกว่า

ขณะเดียวกัน บลจ.ยูโอบี ได้เตรียมสภาพคล่องพร้อมไว้ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

การล้มของ SVB มองว่าแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะ SVB มีฐานลูกค้าไม่เหมือน Retail Bank ทั่วไป แต่เป็นกลุ่มเทคเป็นส่วนใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากที่ SVB นำเงินลงทุน Mismatch ผิดแปลกไปจากปกติ โดยลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว แต่เมื่อต้องการขายก่อนครบกำหนดจึงเกิดผลขาดทุน ทำให้แบงก์ขาดสภาพคล่อง

อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าทางการสหรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาได้เร็วมาก แสดงว่าเป็นเรื่องที่ทางการจับตาอยู่ แม้จะไม่ใช่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา แต่การเข้าไปของทางการสหรัฐเพื่อไม่ให้กระทบนักลงทุน

นอกจากนั้น ผลดีที่เกิดจากรณีทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเดิมคาดว่าการประชุมในรอบเดือนมี.ค.นี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็นคาดว่าเฟดจะปรับขึ้น 0.25% หรืออาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย เพราะเฟดไม่ได้มองเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลระบบการเงินด้วย

SVB ถือหุ้น บจ.ไทยแห่งไหนบ้าง ? 

จากข้อมูลฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส หรือ ASPS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากที่ทำการรวบรวมเบื้องต้นยังไม่เห็น SVB Bank ติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในหุ้นไทย แต่ในอีกมุม เห็นมีกองทุนรวมดัชนี (Exchange Traded Fund: ETF) ที่มีการลงทุนใน SVB Bank ได้แก่ KRE etf 2.34%,  XLF etf 0.41% และ กองทุนในประเทศไทย ได้แก่ KT-FINANCE , TUSFIN , ONE-GLOBFIN , BFINTECH  เป็นต้น  

ฝ่ายวิจัย ASPS ยังได้ประเมิน 5 ผลกระทบ จากวิกฤตแบงก์สหรัฐล้ม ดังนี้

ประเมิน 5 ผลกระทบ วิกฤตแบงก์สหรัฐล้ม

  • 1.ต้นเหตุของการล่มสลายสามารถเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นได้ทั่วไป จากปัญหาขาดสภาพคล่องและการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท Start up มากจนเกินไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่เช้า (13 มี.ค.66 ) ทางการสหรัฐฯ ยังมีการสั่งปิดธนาคารเพิ่มเติมคือ Signature Bank (SBNY) เพื่อจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งย้ำถึงจุดยืนในการประกันเงินฝากของสถาบันการเงิน
  • 2.ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะลดความร้อนแรงลง โดยเฟดประชุมฉุกเฉินในวันนี้ (13 มี.ค. เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น) เพื่อถกปัญหาดังกล่าว รวมถึงทบทวนและตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ซึ่งอาจมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุม 22 มี.ค.นี้ ขณะที่ Fed Watch Tool ให้น้ำหนักสูงถึง 82.6%
  • 3.ดอลลาร์อ่อนค่า จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างเฟดกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดคาดวันที่ 22 มี.ค.เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ 5% ส่วน ECB มีรอบการประชุมที่เร็วกว่า วันที่ 16 มี.ค.และขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า 0.5% มาอยู่ที่ 3.5% รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยง Recession
  • 4.โอกาสเกิด Recession อาจสูงในระยะถัดไป เนื่องจากปัญหาของ SVB อาจเห็นผลกระทบได้หลายทาง ตั้งแต่ Bank Run โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก, การขาดทุนจากการขายตราสารหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องเพื่อป้องกัน Bank Run ,ธุรกิจที่ฝากเงินไว้กับ SVB Bank อาจขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ
  • 5.เกิดความผันผวนในตลาดการเงินไปอีกระยะหนึ่ง ตั้งแต่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยเมื่อวันศุกร์ปรับตัวลงมาราว -5.2% ถึง -5.8% ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงมากว่า -1.1% ถึง -2.9% ทำให้บริษัทที่น่ากังวล ได้แก่ บริษัทที่มีเงินฝากเป็นจำนวนมาก, ธนาคารขนาดเล็กที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่าจำนวนที่กฎหมายคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์ เป็นจำนวนมาก และธนาคารที่มีผล Unrealized loss อยู่ในพอร์ตเป็นจำนวนมาก