ในงานสัมมนา SET in The Rabbit Hole: หุ้นไทยปีกระต่าย 2023 จัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจและ Than Digital ได้รับเกียรติจากนางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ สาขาประเทศไทยและประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย American Chamber of Commerce in Thailand (AMCHAM) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Global Fund Flows: รับมือการเงินโลกป่วน”
นางสาวอรกัญญาเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลสำคัญต่อสถานการณ์โลกและทิศทางการลงทุนมี 2 ปัจจัยคือ
ส่วนทิศทางลงทุน เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ช่วงเดือนแรกไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและในตลาดตราสารหนี้ไทยอีกราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการคาดการณ์ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ก่อนที่ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 เงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลออกและคาดว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่า โดยไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อย่างไรก็ดี ทิศทางธุรกิจอยากให้โฟกัสเรื่อง Net Zero มาตรการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเทรนด์มาแรง โดยเอเชียมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด จีนตั้งเป้าไว้ว่า 52% จะพึ่งพาถ่านหิน ของไทยภายในปี 2065 ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 50% ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนา อย่างสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสร้างแรงจูงใจ (incentive) หากซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะลดให้ 7,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกรณีบ้านเรือนที่ติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป รัฐบาลก็จะออกให้ 30% ซึ่งรัฐบาลไทยก็เริ่มดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องทำในเรื่อง ESG และจะมีหน่วยงานกลางในการให้คะแนน และในสหรัฐฯ ก็เริ่มเห็นว่า บริษัท ที่มีคะแนนในเรื่อง ESG จะส่งผลต่อ Valuation ของหุ้นในอนาคตมากขึ้น และเป็นเทรนด์มาแรงที่นักลงทุนต่างชาติจะใช้ในการตัดสินใจเข้าลงทุนหุ้นนั้นๆ
“ในฐานะที่เราเป็นที่ปรึกษาการเงินในหลายดีลกิจการ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติใช้พิจารณาเข้ามาลงทุน เรื่องที่ถามถึงก็คือ ESG ของบจ. ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไทยยังให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยมาก” นางสาวอรกัญญา กล่าว
ส่วนปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปและผลกระทบ นางสาวอรกัญญากล่าวว่า กรณีของ ซิลิคอน วัลเลย์แบงก์ (Silicon Valley Bank: SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) แม้จะคลี่คลายไปได้ เนื่องจากภาครัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ และสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) สามารถเข้ามาจัดการได้ทันท่วงทีใช้เวลาเพียง 2 วัน และด้วยคุณภาพสินทรัพย์ (Loan) ที่ค่อนข้างดี จึงมีสถาบันการเงินประมูลซื้อไป
ขณะที่กรณีของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisses:CS) ในสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นความผิดพลาดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งแตกต่างจากกรณีของแบงก์สหรัฐที่ต้องปิดกิจการไป เช่น ความหละหลวมกรณีที่ CS ตรวจพบในภายหลังว่า เข้าไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่เกี่ยวกับ supply chain financing วงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มี invoice (บิลข้อมูลการซื้อขายที่ออกเป็นเอกสาร)
นอกจากนั้นยังมีการปล่อยกู้ เทรดมาร์จิ้นวงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีหลักประกันเป็นหุ้น สร้างความเสียกว่า 2 เท่าตัว รวมการระดมทุนระยะสั้น ต้นทุนสูง แต่ไปลงทุนระยะยาว เช่น ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ระยะสั้น 3 เดือน ดอกเบี้ยสูง 6.5%ต่อปี แต่ไปลงทุนในพันธบัตร 10 ปี ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องขายออก จึงขาดทุนมหาศาล
แม้ท้ายที่สุด ธนาคารยูบีเอส ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ธนาคารใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์จะเข้ามาอุ้ม ด้วยการซื้อกิจการ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น 2 เรื่องสำคัญคือ ความเสียหายจากการลงทุนในหุ้นกู้ “AT1” (หุ้นกู้ด้อยสิทธิ สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ ) หรือ “หุ้นกู้ CoCo” เนื่องจากการเข้าซื้อของยูบีเอสในครั้งนี้ มีรัฐบาลเป็นนายหน้า และเพื่อช่วยพยุงวิกฤติความเชื่อมั่นของตลาดการเงินโลก
กรณีนี้หน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ จึงอนุญาตให้สามารถจัดจำหน่ายหุ้นกู้ AT1 ของ Credit Suisse มูลค่ากว่า 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 แสนล้านบาท) เหลือศูนย์ในทันที เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลให้กับธนาคารที่เกิดจากการควบรวม ดังนั้นผู้ถือ AT1 ของเครดิตสวิส จึงมีมูลค่าเป็นศูนย์
สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทย นางสาวอรกัญญาย้ำว่า ไม่ส่งผลต่อสถาบันการเงินไทย เนื่องจากไม่มีการลงทุนโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับ 3 ธนาคาร (SVB , ซิกเนเจอร์แบงก์, เครดิตสวิส) ส่วนกรณีการลงทุนใน CS โดยผ่าน “กองทุนหลักในต่างประเทศ” สัดส่วนค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้ หากเทียบความแข็งแกร่งของกองทุนฯ (Capital Adequacy Ratio:CAR ratio) สถาบันการเงินต่างประเทศอยู่ที่ 8% ธนาคารสหรัฐอยู่ที่ 14% ยังต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 19.5% โดยเฉลี่ย ธนาคารไทยจึงปลอดภัยมากๆ
“ถามว่าไทยได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติภาคธนาคารต่างประเทศครั้งนี้ ที่สำคัญมากๆ คือเรื่อง AT1 ซึ่งเกิดความเสียหายมหาศาล จากคนที่แห่ไปลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าว ที่ให้ผลตอบแทนสูง 6% กว่าสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป” นางสาวอรกัญญากล่าว
นอกจากนั้น กรณีการค้ำประกันเงินฝากของภาครัฐ อย่างกรณีธนาคารในสหรัฐ จะค้ำประกันเงินฝากต่อบัญชีต่อรายต่อธนาคาร อยู่ที่ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 ล้านบาท เทียบกรณีของไทย ที่รัฐบาลค้ำประกันเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน ดังนั้นฝาก 8 ธนาคารก็ได้รับการค้ำประกันแค่ 8 ล้านบาท จึงเป็นบทเรียนให้ต้องคิดต่อว่า เราจะบริหารจัดการเงินในบัญชีอย่างไร
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,874 วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2566