ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,727.43 จุด ลดลง 219.28 จุด หรือ -0.65%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,348.33 จุด ลดลง 33.56 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,492.52 จุด ลดลง 138.09 จุด หรือ -1.01%
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวปิดลบในรอบสัปดาห์นี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.7%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.4% และดัชนี Nasdaq ลดลง 1.4%
สำหรับดัชนี S&P500 ปิดลบในสัปดาห์นี้หลังจากปิดบวก 5 สัปดาห์ติดต่อกันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564
ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดลบสัปดาห์นี้ หลังปิดบวกติดต่อกัน 8 สัปดาห์ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2562
อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวลงในสัปดาห์นี้มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.
โดยหุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลง ซึ่งกลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด
ส่วนหุ้นตัวใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยถ่วงดัชนี Nasdaq ลง นำโดยหุ้นไมโครซอฟท์ คอร์ป, หุ้นเทสลา อิงค์ และหุ้นอินวิเดีย คอร์ป
ตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันหลังจากนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันศุกร์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีก 2 ครั้งในปีนี้เป็นการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผลอย่างมาก และได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องของนายพาวเวลที่ให้ระมัดระวังมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการเงิน
นายทอม บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) ว่า ไม่เชื่อว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่ระบุว่า จะไม่คาดการณ์ผลการประชุมของเฟดในเดือนก.ค.
เครื่องมือ FedWatch tool ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า มีโอกาส 74.4% ที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค.
หุ้นชิปถ่วงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลง โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดฟิลาเดลเฟียลดลง 1.8%
หุ้นสตาร์บัคส์ คอร์ป ร่วง 2.5% หลังสหภาพแรงงานของสตาร์บัคส์เปิดเผยว่า พนักงานราว 3,500 คนในสหรัฐจะทำการประท้วงในสัปดาห์หน้าต่อข้อห้ามของบริษัทในการตกแต่งร้านสำหรับเดือน Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
แต่หุ้นคาร์แมกซ์ อิงค์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายรถมือสอง พุ่งขึ้น 10.1% สวนทางตลาด หลังเปิดเผยผลกำไรรายไตรมาสที่ดีกว่าคาด
ตลาดหุ้นสหรัฐยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงด้วย โดยเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. จากระดับ 54.3 ในเดือนพ.ค.
อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 48.4 ในเดือนพ.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.9 ในเดือนพ.ค.