นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. ได้ดำเนินการออกหมายจับกุมผู้กระทำผิดได้ทั้งสิ้น 9 ราย และมีการหลบหนี 2 ราย
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการในคดีการจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ทำเพจปลอม และหลอกลวงประชาชนให้มีการลงทุนโดยแอบอ้างชื่อบริษัท และผู้บริหารอมตะ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอมตะจะเดินหน้าทลายวงจรแก๊งหลอกลวงการลงทุนต่อไป เพื่อทลายวงจรแก๊งหลอกลวงการลงทุน เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพอีกด้วย
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มอมตะ ในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยืยันว่า การเชิญชวนเพื่อลงทุนใด ๆ จะต้องดำเนินการผ่านกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด และผ่านตัวแทนโบรคเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับการรับรองจากตลาดทรัพย์เท่านั้น
ไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่านเฟสบุ๊ค หรือติดต่อผ่านระบบไลน์ ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สูงผิดปกติจากความเป็นจริง
“จากการที่มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถมีความคืบหน้าในการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินติดตามอย่างใกล้ชิด ประชาชนต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะให้สังเกตุเพจของกลุ่มมิจฉาชีพ มีการตั้งขึ้นมาใหม่มีอายุไม่นาน"
ขณะที่เว็บไซต์ และเพจ ของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียน และก่อตั้ง ในปี 2012 ซึ่งมีอายุการดำเนินงาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารความเคลื่อนไหวมามากกว่าเพจของกลุ่มมิจฉาชีพ สามารถเช็คได้จาก ข้อมูลอ้างอิงจดทะเบียนในเพจ (about )ทำให้รู้ได้ว่าเป็นเพจปลอม เพื่อใช้ในการหลอกลวง
อย่างไรก็ดี จากการได้รับรายงานข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจับกุมได้ มีผู้เสียหายที่แจ้งความดำเนินการคดี ถึง 185 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 25.9 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมออกหมายจับเพิ่มเติม เพราะมีความเกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว