ส่องงบการเงิน"ANAN"รับมือวิกฤต"แอชตัน อโศก"ได้แค่ไหน ?

31 ก.ค. 2566 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2566 | 10:23 น.

เปิดสถานะการเงิน บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN ) "กระแสเงินสด-ภาระหนี้จ่าย" หลังเผชิญวิกฤติ "แอชตัน อโศก" นักวิเคราะห์ มองกระทบแผนออกหุ้นกู้ครั้งใหม่ (Roll-Over) ทำได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน สภาพคล่องบริษัท ฯ

จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ Ashton Asoke ( แอชตัน อโศก) ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN  เนื่องจากได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญที่ว่า ที่ดินของรฟม.ไม่อาจนำมาให้บริษัทฯหรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจขอใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คาด ANAN ตั้งสำรอง Q2/66 ราว 422 ล้าน

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส หรือ ASPS วิเคราะห์ (31 ก.ค.2566 ) ว่าคดี "แอชตัน อโศก" ถือเป็นข่าวเชิงลบอย่างรุนแรงต่อบริษัท ANAN เนื่องจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนับว่าสิ้นสุดของคดี  แม้จะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงตัวเลขได้ชัดเจน เนื่องจากต้องรอความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีต่องบการเงิน

 

แต่เบื้องต้นอาจเห็นการตั้งสำรองความเสียหายของโครงการ อย่างน้อยในส่วนของห้องชุดที่ยังไม่ได้ขายที่มีมูลค่า 828 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่บริษัทร่วมทุนคือ 51%  ( โครงการร่วมลงทุน :Joint Venture ระหว่างบริษัทฯ กับ ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ในสัดส่วนการถือหุ้น 51 : 49 ตามลำดับ ) ดังนั้นคาดมูลค่าที่บริษัทฯต้องตั้งสำรองราว 422 ล้านบาท (คิดเป็น 0.10 บาท/หุ้น และ 0.1% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสิ้น Q1/66) ในงบการเงิน (มีโอกาสเกิดขึ้นใน Q2/66)

กระทบความเชื่อมั่น ออกหุ้นกู้ครั้งใหม่ทำได้ยากขึ้น

จากประเด็นข่าวดังกล่าว ย่อมสร้างกระแสเชิงลบด้านจิตวิทยาในหลายส่วน ทั้งต่อแวดวงธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดฯ ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์บริษัทฯ ย่อมกระทบต่อการโอนกรรมสิทธิ์,การสร้าง Presale ทั้งจากโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการใหม่ที่เตรียมเปิดขาย Q4/66 ซึ่งมีโอกาสถูกเลื่อนออกไป จนกว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อได้อีกครั้ง รวมถึงกระทบต่อความมั่นใจของกลุ่มนักลงทุน ทั้งผู้ร่วมทุน (กลุ่มพันธมิตร JV คือ Mitsui Fudosan Japan),เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นกู้ ทำให้การออกหุ้นกู้ครั้งใหม่ หรือ Roll-Over มีโอกาสทำได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน และปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

กางสถานะการเงิน"เงินสด-ภาระหนี้" 

ด้านสถานะการเงิน ANAN ณ สิ้น มี.ค.2566 มีเงินสดในมือ 8.4 พันล้านบาท, หนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (ไม่รวมหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ – Perpetual Bond 3 พันล้านบาท) เพิ่มเป็น 2.67 หมื่นล้านบาท ( จาก 2.28 หมื่นล้านบาทงวดก่อน ผลจากการออกหุ้นกู้ 2 ชุดรวม 4 พันล้านบาทใน Q1/66) ในส่วนนี้เป็นหุ้นกู้  2.06 หมื่นล้านบาท (มีกำหนดชำระใน 1 ปี มูลค่า 9.4 พันล้านบาท และมากกว่า 1 ปี ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท) 

ขณะที่ส่วนทุน 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.45 หมื่นล้านบาทงวดก่อน หลังชำระคืน Perpetual Bond 2 พันล้านบาท และกำไรสะสมลงมาที่ 2.7 พันล้านบาท ตามผลประกอบการที่ยังขาดทุน ส่งผลให้ Net Gearing สิ้น 1Q66 ที่ 1.47 เท่า (เพิ่มจาก1.09 เท่างวดก่อน) ใกล้ระดับอัตรา Net IBD/E ตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ (Bond Covenant) ที่ 1.6 เท่า

ทำให้ประเด็นสถานะการเงินยังเป็นเรื่องต้องติดตาม (เป้าสิ้นปีของบริษัทคาด Net IBD/E 1.1-1.2 เท่า) ทั้งนี้ภายใต้กรณีนำ Perpetual Bond ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอีก 3 พันล้านบาท ออกจากส่วน Equity และรวมเป็นหนี้สิน พบว่า Net Gearing อยู่ที่ 2.25 เท่า (เทียบกับ 2.18 เท่างวดสิ้นปี 2565)

ส่องงบการเงิน\"ANAN\"รับมือวิกฤต\"แอชตัน อโศก\"ได้แค่ไหน ? บล.เอเซียพลัส  มีมุมมองต่อหุ้น ANAN  แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน และUnderperform (เดิม Neutral)ภายใต้การประเมินมูลค่าผ่านการ Adjusted BV ปี 2566 ที่ไม่รวม Perpetual Bond และสะท้อนความเสียหายของโครงการ Aston Asoke โดยหักมูลค่าโครงการ 6.5 พันล้านบาท ตามสัดส่วนถือ 51% คิดเป็นมูลค่า 0.8 บาท/หุ้น จะให้มูลค่า Adjusted BV ที่ 1.51 บาท/หุ้น และอิง PBV 0.5 เท่า ส่งผลให้ราคาเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 0.75 บาท 

 

ส่องงบการเงิน\"ANAN\"รับมือวิกฤต\"แอชตัน อโศก\"ได้แค่ไหน ?