1.ตลาดแรก - ตลาดรอง
ลงทุนโดยตรง ใน 2 ช่องทาง
1. ลงทุนในตลาดแรก
ที่ผู้ออกเสนอขายเป็นครั้งแรก
- พันธบัตรออมทรัพย์ซื้อได้ที่ ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ,Mobile application หรือแอปเป๋าตัง
- ตราสารหนี้ภาคเอกชนเสนอขาย ผ่านผู้จัดการการจัดจำหนาย (ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์)
2. ลงทุนในตลาดรอง
ที่เป็นการซื้อขายเปลี่ยนมือระหว่างผู้ลงทุนที่ต้องการขายก่อนครบอายุ หรือซื้อไม่ทันในตลาดแรก
- ติดต่อ Dealer (ธนาคารพาณิชย์หรือ บริษัทหลักทรัพย์) ที่เป็นตัวกลาง
- ตลาดรองตราสารหนี้ภาคเอกชนมีสภาพคล่องไม่สูง ผู้ลงทุนจึงอาจไม่สามารถซื้อขายได้ในเวลาที่รวดเร็วหรือขายได้ในราคาที่ต้องการ
ทั้งนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องซื้อขั้นต่ำที่ 100,000 บาท ผู้ลงทุนจึงอาจกระจายความเสี่ยงได้ไม่มาก และควรติดตามข้อมูลตลาดเสมอ
2.ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ DEFAULT
ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) คือการที่ผู้ออกไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนด
- ตราสารหนี้ภาครัฐจะไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ (Risk-free)
- ตราสารหนี้ภาคเอกชน ผู้ลงทุนพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ได้จากอันดับเครดิต (Credit rating)
- อันดับเครดิตมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ Investment Grade: อันดับเครดิต AAA ถึง BBB- และ Speculative Grade: อันดับเครดิต BB+ ถึง D
- อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระยิ่งต่ำ
เมื่อมีการผิดนัดชำระ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะทำหน้าที่เรียกร้องให้ผู้ออกชำระหนี้และเป็นศูนย์กลางข้อมูล โดยผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และต้องใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
3.อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อราคา
อัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหรือราคาตราสารหนี้เคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้าม
- อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะสูงขึ้น
- เช่น ถือตราสารหนี้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง) 3% ต่อมาอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้นจาก 3% เป็น 4% ตราสารหนี้ที่จะออกใหม่จะให้ผลตอบแทนที่ 4% และหากผู้ลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ก็ต้องลดราคาลงเพื่อให้น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่จะออกใหม่
- อย่างไรก็ตามในกรณีที่นักลงทุนถือตราสารหนี้จนครบกำหนดอายุจะไม่มีผลกระทบดังกล่าว
4.กองทุนรวมตราสารหนี้
ลงทุนตราสารหนี้โดยอ้อมผ่าน "กองทุนรวมตราสารหนี้"
- ติดต่อธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวม
- เลือกนโยบายการลงทุนที่ต้องการ และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- การลงทุนผ่านกองทุนรวมใช้เงินลงทุนไม่สูง และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี
ทั้งนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้จะต้องคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)ให้เป็นมูลค่าตามราคาปัจจุบัน ที่เรียก
ว่า การ Mark To Market ในทุกๆ สิ้นวันทำการ ผู้ลงทุนจึงอาจมีโอกาสขาดทุนหรือกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่เคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
5.ภาษี (TAX )
การลงทุนโดยตรง
- บุคคลธรรมดาจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยรับ 15%
- หากขายแล้วได้กำไรจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร
ทั้งนี้นักลงทุนสามารถขอคืนภาษีได้หากฐานภาษีเงินได้ประจำปีไม่ถึง 15%
การลงทุนโดยอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้
- กองทุนรวมจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยรับ 15% ซึ่งนักลงทุนไม่สามารถขอคืนภาษีได้แม้ฐานภาษีไม่ถึง 15% เพราะผู้เสียภาษีคือกองทุนรวม
- เงินปันผลและกำไรจากการขายหน่วยลงทุนได้รับยกเว้นภาษี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีของดอกเบี้ยรับที่ได้จากการลงทุนตราสารหนี้
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)