ถอดบทเรียน “STARK” ปมที่ทุกหน่วยงานต้องทำงานเชิงรุก กลั่นกรองงบ

17 ส.ค. 2566 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 11:28 น.

นักวิชาการร่วมเสวนา ถอดบทเรียนกรณี “STARK” แนะแนวทางผู้กำกับดูแล ผู้สอบบัญชีเพิ่มความเข้มข้น ตรวจสอบเชิงรุก ทั้งการรายงานงบฯ ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต สร้างความเชื่อมั่น

(17 ส.ค. 66) ในงานประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ที่ได้รับผลกระทบนัดแรกที่ โรงแรม The Emerald  ถนนรัชดาภิเษก ในหัวข้อ "หุ้นกู้ STARK รวมพลังเดินหน้าแก้ปัญหา" โดย รศ.สมชาย สุภัทรกุล คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาพร้อมให้ความเห็นว่า การตกแต่งบัญชีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน 

โดยเฉพาะผู้ลงทุนในหุ้นกู้และหุ้นของ STARK อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยรวมในตลาดทุน ตอนนี้คงต้องมาคิดกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้ 

ทั้งนี้แนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นกลับมามองว่าคือ ผู้สอบบัญชี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองข้อมูลด้านงบการเงินของบริษัทต่างๆ ที่จะต้องมีการมาพูดคุยกันในเรื่องการปฏิบัติงาน ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

ภาพบรรยากาศงานเสวนาประชุมผู้ถือหุ้นกู้ “STARK” ที่ได้รับผลกระทบ

ถือเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานจากการถอดบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาหาแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต มากกว่าการที่จะมาดูตามมาตรฐานบัญชีเท่านั้น เพราะมาตรฐานบัญชีที่ประเทศไทยใช้อยู่ก็เป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

"อยากให้มีการมาพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของผู้สอบบัญชีที่ต้องมีความเข้มงวด และระมัดระวังมากขึ้น โดยถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแก้ไข และหาแนวทางมาร่วมในการป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดในอนาคตได้อีก" รศ.สมชาย กล่าว

ขณะเดียวกันในส่วนของหน่วยงานกำกับทั้ง สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงหน่วยงานที่มีการนำข้อมูลของบริษัทมาจัดทำอันดับเครดิตเรตติ้ง 

จะต้องมีการทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทต่างๆ และมีการทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีในการร่วมตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อมูลก่อนที่จะมีการนำเสนอออกมา 

อย่างในต่างประเทศมีโมเดลที่เรียกว่า Earning Memorandum เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลที่เกิดขึ้น และลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน และช่วยลดความเสียหายได้

ด้านนายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน CFP ระบุว่า หน่วยงานที่กำกับดูแล จะต้องมีการพัฒนาและทำงานในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากกรณีของ STARK ส่งผลกระทบในวงกว้าง 

โดยทาง ก.ล.ต. จะต้องมีการพัฒนาแนวทางในการตรวจสอบ และการป้องกันเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการนำงานวิจัยที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆให้ดีขึ้น จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

อย่างไรก็ตามการปรับปรุงกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นยอมรับว่าบริษัทจดทะเบียนได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อาจเพิ่มขึ้นได้ 

แต่ต้องยอมรับว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเพื่อยกระดับตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทยให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีธรรมภิบาล โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลับมา

สำหรับในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีของ STARK ยังคงมีความจำเป็นต้องรวมตัวกัน และตั้งตัวแทนเพื่อเรียกร้อง และสอบถามข้อมูลไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป