ACPG ยื่นไฟลิ่งขาย IPO รวม 1,041.23 ล้านหุ้น เข้า SET

11 ก.ย. 2566 | 08:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 08:55 น.

อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป (ACPG) ยื่นไฟลิ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. เสนอขาย IPO รวม 1,041.23 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนใน SET บริษัทตั้งเป้าจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 40%

บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ "ACPGได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ "IPO" จำนวน 1,041.23 ล้านหุ้น คิดเป็น 45% ของหุ้นทั้งหมด

ภายหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ และ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดยทางบริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้ลงทุนในพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย, เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ทางบริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของบริษัท และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับ ACPG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย โดยมีธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างครบวงจรเป็นธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีหลักประกัน และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA)

ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 100% ในบริษัท บริหารสินทรัพย์ อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ไวร์เลส จำกัด (WAMC) 

ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ธุรกิจของ ACPG แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1.ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินในประเทศไทย และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ เพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

2.ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) บริษัทมีนโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่มาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการขายทอดตลาด หรือจากการตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท โดยทรัพย์สินรอการขายบางส่วนของบริษัทมาจากการเข้าประมูล

สำหรับรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในปี 63-65 และงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 และ 66 เท่ากับ 381.3 ล้านบาท 475.0 ล้านบาท 728.0 ล้านบาท 293.8 ล้านบาท และ 311.1 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่กำไรในงวดปี 63-65 และสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 และ 66 บริษัทมีกำไรสำหรับงวดต่อปีเท่ากับ 137.8 ล้านบาท 1 ล้านบาท 223.4 ล้านบาท 108.7 ล้านบาท และ 138.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 36.1 ร้อยละ 0.2 ร้อยละ 30.7 ร้อยละ 37.0 และร้อยละ 44.3 ตามลำดับ