ดร.นิเวศน์ : อวสานของการลงทุนหุ้นต่างประเทศ

23 ก.ย. 2566 | 22:05 น.

ดร.นิเวศน์ วิพากษ์ รัฐเก็บภาษีรายได้ลงทุนนอก ไม่ต่างกับ"ปิดตาย"เส้นทางลงทุนตลาดหุ้นตปท. โดยเฉพาะนักลงทุน VI ที่การพึ่งผลตอบแทนลงทุนในประเทศอาจไม่เพียงพอ เดาใจ 4 ปีรัฐบาล เดินหน้าเก็บภาษีมากขึ้นแน่ มุ่ง "คนมีเงิน - กลุ่มลงทุนในตลาดหุ้น"

การเปลี่ยนแปลงแนวทางการคิดภาษีการลงทุนหุ้นต่างประเทศเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน  ซึ่งมีผลสำคัญก็คือ  ทำให้คนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วยตนเองที่เริ่มมีมากขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งคิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้น “ไม่เสียภาษี” เหมือนการลงทุนในหุ้นไทยถ้าไม่นำเงินกลับมาในปีที่ขายหุ้น  นักลงทุนที่ไปนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย  และต่างก็คิดว่าเงินที่นำออกไปลงทุนนั้น  จะเป็นการลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก  เป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต”  เป็นการลงทุน  “เพื่อการเกษียณ” หรืออย่างน้อยก็ลงทุนหลาย ๆ ปี  ต่างก็ “ช็อก” เพราะอยู่ ๆ  ก็มีประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป  คนที่นำเงินที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศกลับมาจะต้องเสียภาษีตามอัตราบุคคลธรรมดา  ซึ่งอาจจะเสียภาษีสูงสุดถึง 35%

ที่ทำให้ช็อกกว่าก็คือ เกณฑ์การเสียภาษีใหม่นั้น  ถ้าคนที่ไปลงทุนอยู่แล้ว  ไม่ต้องการลงทุนต่อและจะนำเงินกลับมาทันทีเพื่อเลี่ยงที่จะเสียภาษีที่จะเริ่มใช้ในต้นปีหน้า  ส่วนใหญ่แล้วก็ทำไม่ได้  เพราะถ้าขายปีนี้เพื่อจะนำเงินกลับมาปีหน้าก็ทำไม่ทันแล้ว  สรุปก็คือ  เงินที่ออกไปแล้ว  ตอนนี้ก็เหมือนกับ  “ผู้ลี้ภัย” ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยที่เป็นเหมือน “บ้านเกิด” ได้  โดยเฉพาะถ้าออกไปแล้วทำผลตอบแทนได้ดีและมีกำไรมาก  เพราะถ้ากลับมาก็อาจจะโดนเก็บภาษีถึง 35%  หลายคนที่ประสบปัญหานี้ต่างก็คิดว่า  บางที  เงินนี้อาจจะต้อง “อยู่นอกประเทศ” ไปเรื่อย ๆ  “เอาไว้ใช้เวลาที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก”  หรือไม่ก็หาวิธีที่จะนำเงินกลับมาโดยไม่ต้องเสียภาษี  ซึ่งก็น่าจะมีโอกาสอยู่บ้างเมื่อคิดถึงความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบัน

 

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ออกไปลงทุนต่างประเทศจริง ๆ จัง ๆ แต่กำลังคิดที่จะไปเพราะเริ่มตระหนักว่า  การลงทุนเฉพาะในประเทศไทยนั้น  ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งหรือความมั่นคงทางด้านการเงินเพื่อทำให้ตนเองมีอิสรภาพทางการเงินเพื่อการเกษียณอย่างมีความสุขนั้น  ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าเส้นทางการลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเองนั้น  ถูก “ปิด” ลงไปแล้ว  แม้ว่าเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะยังต้องมีการกำหนด “รายละเอียด” อีกมากมายก่อนถึงวันกำหนดใช้

ประเด็นก็คือ  ต่อให้หลักเกณฑ์หรือวิธีการกำหนดว่าจะต้องเสียภาษีอย่างไรชัดเจนขึ้น  และอาจจะช่วยบรรเทาความยุ่งยากในการกำหนดจำนวนภาษีที่จะต้องจ่ายอย่าง “ยุติธรรม” ขึ้น  แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ  “กระทันหัน”  อีก  และอาจจะกระทบกับคนที่คิดว่าเขานำเงินออกไปลงทุนเพราะพอใจกับเกณฑ์ดังกล่าวนั้น  พูดง่าย ๆ  แนวทางที่รัฐบาลทำอยู่นั้น  ได้เพิ่ม  “Regulatory Risk” หรือ “ความเสี่ยงในด้านการออกกฎเกณฑ์” ของประเทศ  ที่ทำให้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนถ้าหุ้นไม่ดีหรือไม่ถูกจริง ๆ  ซึ่งนั่นก็จะทำให้การระดมทุนของตลาดทุนด้อยประสิทธิภาพลง

จริงอยู่ที่การลงทุนต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายบุคคลยังเป็นไปได้โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมและเครื่องมือเช่น DR หรือ ETF  ที่ออกในประเทศไทยและเป็นเหมือนตัวแทนของหุ้นหรือหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้  โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีและถูกตีความเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย  แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเป็นคนเลือกหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศที่เขาคิดว่าเหมาะสมในการลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป  และก็มีจำนวนหุ้นและกองทุนที่จำกัดมากและก็มักจะเป็นหุ้นตัวใหญ่มากที่มักจะให้ผลตอบแทนแค่ “ดีพอใช้” ในระยะยาว
 

แต่สำหรับคนที่เป็น “VI ผู้มุ่งมั่น”  หรือเป็นนักลงทุนที่มีความรู้และชาญฉลาดและอยากสร้างความมั่งคั่งเพื่อชีวิตโดยการลงทุนด้วยตนเองแล้ว  การ “ตัด” ช่องทาง การลงทุนในตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกอันเนื่องจากอัตราภาษีที่หนักเกินกว่าที่จะรับได้  ก็เหมือนกับการ “ประหาร” ชีวิตการเป็นนักลงทุนของพวกเขา  มันคงคล้าย ๆ  กับคนที่เป็นนักการเมืองโดยชีวิตจิตใจที่ถูกโทษตัดสิทธิห้ามมีตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

แล้วคนที่เป็น VI ผู้มุ่งมั่นและได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ บางคนไปถึงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าของความมั่งคั่งรวมอยู่แล้วจะทำอย่างไร?   ที่ยิ่งหนักก็คือ  ไปมานานหลายปีและมีกำไรที่ยังไม่ได้ขายมากอยู่แล้วจะทำอย่างไร?

คงไม่มีทางออกแบบเดียวสำหรับทุกคน  เพราะแต่ละคนก็อยู่ในสถานะพอร์ตที่แตกต่างกันมาก  เช่น  1) ขนาดของพอร์ตหุ้นต่างประเทศไม่เท่ากัน  คนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่ก็จะปรับได้ยากกว่าคนที่พอร์ตเล็ก 2)  กำไรของพอร์ตที่มากหรือน้อย แต่ข้อนี้บางทีก็ต้องดูว่าข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของหุ้นมีครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน  เพราะผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่หรือแม้แต่โบรกเกอร์ก็อาจจะมีไม่ครบ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หุ้นบางตัวก็มีการแจกหุ้นปันผลให้ เป็นต้น  3) ระยะเวลาที่เริ่มลงทุน  ถ้าลงทุนมานานและมีการซื้อ ๆ ขาย ๆ  และเปลี่ยนเป็นหุ้นตัวใหม่บ่อย ๆ  รวมถึงในพอร์ตมีหุ้นจำนวนมาก  แบบนี้ก็ทำให้ไม่รู้ว่าเมื่อเอาเงินกลับมาจะประสบกับปัญหาการจ่ายภาษีอย่างไร 

นอกจากเรื่องสถานะของพอร์ตแล้ว  ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถและแนวทางการลงทุนของแต่ละคน ประกอบกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ไทยว่าเขามีมุมมองอย่างไร  ถ้าคนที่ไปลงทุนต่างประเทศแล้วพบว่า นั่นคือสิ่งที่เขาจะสามารถทำได้ดีกว่าการลงทุนอยู่แต่ในตลาดไทยมากในภาวะปัจจุบันและอนาคตอาจจะ 10 ปีข้างหน้า  แบบนี้เจ้าตัวก็จะต้องคิดว่าตนจะยอมลงทุนเฉพาะในตลาดไทยแห่งเดียวและทิ้งตลาดหุ้นอื่นทั้งหมดหรือไม่ หรือจะต้องยอมลงทุนภายใต้ “ลมต้าน”ซึ่งก็คือต้นทุนทางด้านภาษีหรืออาจจะมีอุปสรรคอย่างอื่นในตลาดหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น

ส่วนตัวผมเอง  ในฐานะที่เป็น VI พันธุ์แท้ที่มุ่งมั่นที่ยึดหลักการ  “ลงทุนเพื่อชีวิต”  และได้ผ่านชีวิตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมายาวนาน  รวมถึงได้ไปลงทุนในต่างประเทศมาเกือบ 10 ปี แล้วด้วยขนาดพอร์ตล่าสุดประมาณ 30% ของความมั่งคั่งทั้งหมด  มีความเห็นว่า  ณ. เวลานี้  เราไม่สามารถที่จะลงทุนเฉพาะในประเทศไทยได้  การลงทุนในต่างประเทศสำหรับผมมีความสำคัญไม่น้อยกว่าประเทศไทยแล้ว  อนาคตอาจจะสำคัญยิ่งกว่า  ดังนั้น  ยังไงก็ต้องลงทุนในต่างประเทศด้วย

ประการต่อมาก็คือ  จะต้องลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  และไม่นำเงินกลับมาเลยเพราะจะถูกเก็บภาษีซึ่งจะลดผลตอบแทนไปมาก  การ “ทบต้น” เงินลงทุนไปเรื่อย ๆ นั้น  มีโอกาสสูงที่พอร์ตนั้นจะโตขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงวันหนึ่งที่เราอาจจะจำเป็นต้องใช้มันจึงค่อยหาทางว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไรที่จะเสียภาษีน้อยที่สุดหรือไม่เสียภาษีเลย  เช่น  อาจจะเป็นการใช้ในต่างประเทศโดยที่เงินไม่ต้องเข้าประเทศไทยก่อน อย่างไรก็ตาม  ประเด็นนี้เรายังอาจจะไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ เพราะเกณฑ์ต่าง ๆ  ยังไม่แน่นอน  และอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีก

ในอีกแนวทางหนึ่งก็คือ  การยอมจ่ายภาษีรายได้จากปันผลและกำไรจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ  แต่ใช้วิธีบริหารภาษีให้ต้องจ่ายน้อยที่สุดและจ่ายช้าที่สุด  เช่น  ไม่ขายหุ้นบ่อยหรือขายหุ้นที่ขาดทุนมาชดเชยกำไรถ้าทำได้ในแต่ละปี  เป็นต้น  ซึ่งนี่ก็คล้าย ๆ  กับสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั่นก็คือ   ทบต้นผลกำไรที่ยังไม่รับรู้ไปเรื่อย ๆ  เพื่อชะลอการจ่ายภาษีไปให้ยาวนานที่สุด  แต่ในที่สุดก็จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมด  แต่อาจจะจ่ายในอีกหลายสิบปีข้างหน้า  ในระหว่างนั้น  เงินหรือมูลค่าที่ยังค้างอยู่ในบริษัทก็สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่ก็คือโมเดลของเบิร์กไชร์ที่ทำมานานหลายสิบปีจนถึงวันนี้

ข้อที่ควรคำนึงสำหรับการปรับตัวรับกับอุปสรรคของการลงทุนครั้งนี้ก็คือ  แนวโน้มของประเทศไทยที่อาจจะเริ่มเก็บภาษีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงได้ยาก และการเก็บนั้นก็จะเน้นไปที่ “คนมีเงิน” หรือทำเงินได้มากนั่นก็คือ  กลุ่มคนที่ “ลงทุน” ในธุรกิจใหญ่ ๆ  ซึ่งก็คือ  บริษัทในตลาดหุ้น  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น  ถ้าเราเป็นคนไทยในที่สุดก็  “หนีไม่พ้น” แม้ว่านายกคนใหม่จะประกาศเมื่อเร็ว ๆ  นี้ ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า  จะไม่มีการเก็บภาษีหุ้น

ดังนั้น  ผมเองคิดว่า  ยุคทองของการลงทุนโดยเฉพาะของ VI ไทย  ที่ทุกอย่างในประเทศและตลาดหุ้นไทยเอื้ออำนวยคงจะจบลงแล้ว  ถ้าจะหา  “สวรรค์ใหม่” ก็คงจะต้องไปลงทุนต่างประเทศและยอมเสียภาษีหุ้นเพิ่ม  ซึ่งก็อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนสุดยอดแบบที่เคยทำได้อีก