วันนี้ 2 ตุลาคม 2566 นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนไตรมาส 4 ว่า ประเมินเป็นไตรมาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเจอจุดต่ำสุดชั่วคราวในช่วงแรก ก่อนที่หลังจากนั้นจะทยอยปรับตัว Sideways up ขึ้นได้ โดยมีปัจจัยหนุนหลัก 4 ปัจจัยได้แก่ 1.การสิ้นสุดรอบการปรับลดประมาณการของบริษัทจดทะเบียนไทย และอาจมีความเป็นไปได้ในการปรับประมาณการเพิ่มในกลุ่ม Oil & Gas, กลุ่มอิงกับการบริโภคภายในประเทศ กลุ่มส่งออก และกลุ่มท่องเที่ยว 2.การยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยไว้ที่ระดับ 2.50% ซึ่งในอดีตแล้ว มักนำมาสู่การปรับตัวที่ดีของ SET Index หลังจากนั้น 3.เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป จากแรงส่งทางด้านการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติปรับตัวดีขึ้น และ 4.เศรษฐกิจโลกที่แนวโน้มทั่วไปยังคงดีอยู่ และเราค่อนข้างมั่นใจว่าในไตรมาสที่ 4 นี้ จะยังไม่มีสัญญาณควาเสี่ยงใดๆเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยออกมา
ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสที่จะปรับตัว Bottom out ได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมต่อเนื่องเดือนพฤศจิกายน จากการเข้าใกล้การประชุม Fed ซึ่ง ณ ขณะนั้น ตลาดน่าจะมีการ Price in ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงแล้ว หรือหากยัง Price in ไม่หมด ก็คาดว่าในที่ประชุม Fed รอบนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายของวงจรนี้ได้ หากเป็นไปตามที่เราคาดจริง ประเมินว่าดัชนีหุ้นทั่วโลกจะมีการปรับตัว Relief rally ขึ้นได้หลังจากนั้นราว 1-3 เดือน
ด้านความเสี่ยงที่จำเป็นต้องติดตามในช่วงถัดไปก็คือแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจพุ่งขึ้นเกินกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางหลายแห่ง หากราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นคล้ายกับตอนช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อปีก่อน หากเกิดขึ้น อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันกลับมาใช้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นเงินเฟ้ออีกครั้ง ซึ่งก็จะเป็นแรงกดดันต่อภาพของตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่งได้ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะที่ SET Index กำลังซื้อขายอยู่บริเวณต่ำกว่า 1500 จุดในการทยอยเข้าสะสมหุ้นได้ เนื่องจากเป็นระดับที่ Valuation เริ่มมี Upside จากระดับดัชนีเป้าหมายของเราในกรณีดีสุดที่ 1515 จุด และหากยิ่งดัชนีลงลึกไปใกล้ระดับ 1470 จุด มองเป็นโซนในการเข้าซื้อที่น่าสนใจมาก เนื่องจากจะเทียบเท่าเท่ากับระดับ PBV ที่ 1.4x ซึ่งในอดีตแล้ว มักเป็นระดับที่ SET มีเสถียรภาพในทุกๆครั้งที่ดัชนีมีการปรับตัวลง
นายณัฐชาต กล่าวว่า ทรีนีตี้แบ่งกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำไตรมาส 4 ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้ง Consumer staple และ Grassroot consumption อาทิ CPALL, CPAXT, BJC, CRC, HMPRO, GLOBAL, DOHOME, TNP, MENA 2.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงแข็งแกร่ง ภาคการผลิตทั่วโลกที่ฟื้นตัว ภาวะ De-stocking ที่ผ่อนคลายลงและเริ่มกลับกลายเป็น Re-stocking เลือกกลุ่มส่งออก อาทิ KCE, HANA, AAI, ITC, CPF, BTG, GFPT, TU รวมถึงกลุ่มเดินเรือและ Logistics ที่ได้ประโยชน์จากปริมาณการค้าขายและการขนส่งทั่วโลกที่กลับมาคึกคักมากขึ้น อาทิ PSL, RCL, III, LEO, SJWD, WICE.