นางสาวทิพย์รัตน์ นันทปรีดาวัฒน์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์การลงทุนในเหตุการณ์สงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและ อิสราเอลในครั้งนี้จะ คล้ายกับช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 คือ
"การตอบสนองของสินทรัพย์ในรอบนี้ มีความคล้ายกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นได้จากการรีบาวน์ขึ้นของราคาน้ำมันและทองคำ แต่หากเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่เกิดสงครามพบว่า ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว สะท้อนว่าที่ระดับราคาในปัจจุบันน่าจะตอบรับต่อภาวะสงครามไปพอสมควร"นางสาวทิพย์รัตน์กล่าว
ด้าน Bond yield ในระยะสั้นแม้ว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง แต่ในระยะกลางและระยะยาวจะปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า และหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2567 พันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้น
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ได้แก่ หุ้น น้ำมัน ทองคำ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond yield) และดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงภาวะสงครามครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2565 จำนวน 6 ครั้ง พบว่า
ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียด ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงราว 2 เดือนก่อนที่สงครามจะรุนแรงขึ้น และจะฟื้นตัวประมาณ 5-10% ในช่วง 1 เดือนที่สงครามเกิดขึ้น ส่วนราคาน้ำมันจะเร่งตัวขึ้นแรงในช่วง 3 เดือนก่อนเกิดสงคราม โดยมักจะทำจุดสูงสุดในช่วง 1 เดือนสุดท้าย ก่อนจะพลิกกลับมาทรงตัวที่ระดับต่ำกว่าก่อนสงครามประมาณ -10%
ขณะที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-haven) ไม่เห็นการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนหลังเกิดสงคราม โดยราคาทองคำมักจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงตึงเครียดก่อนเกิดสงคราม และเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบแคบหลังจากนั้น