นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่า สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ย. คาดว่าจะอยู่ในช่วงสุดท้ายของการสร้างฐานรอบนี้ โดยในช่วงแรกของเดือน ดัชนีอาจจะยังปรับตัว Overhang จากความไม่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมไปถึง Noise รบกวนจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงยืดเยื้อ และผลประกอบการไตรมาส 3 ของบจ.ไทยที่อ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี พอเวลาดำเนินไป ประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้จะสะท้อนเข้าไปอยู่ในราคาสินทรัพย์ต่างๆมากขึ้น จนทำให้ในช่วงครึ่งเดือนหลัง อาจเริ่มเห็นความคาดหวังเชิงบวกที่เข้ามากระทบได้บ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีปัจจัยใดที่ทำให้เชื่อได้ว่า Fed ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายผ่านพ้นไปแล้ว ไม่นับรวมกับข่าวดีทางด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่คาดว่าจะออกมามากขึ้น และการทยอยปรับตัวขึ้นของหุ้น DELTA หากข้อมูลการซื้อขายเดือนนี้ยืนยันการดำรงอยู่ของตัวหุ้นในดัชนีสำคัญต่อไปในปีหน้า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET ในเดือนพ.ย.จะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 1350 จุด และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1450 จุด
สำหรับปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามในเดือนนี้ได้แก่ 1.ความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet โดยต้องรอติดตามจากการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ 2.การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาส 3/66 รวมถึงแนวโน้มในช่วงถัดไป ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับประมาณการของนักวิเคราะห์ในตลาด รวมถึง Valuation ของดัชนีโดยอัตโนมัติ 3.ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯที่จะออกมาในเดือนนี้ รวมถึงความเห็นของกรรมการ Fed คนต่างๆ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อไปยัง Fed Funds futures และการปรับตัวของ Bond yield และ 4.พัฒนาการของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ในเชิงกลยุทธ์ แนะถือครองหุ้นที่ได้เข้าสะสมมาก่อนหน้านี้ มองกลุ่มที่น่าสนใจยังคงได้แก่กลุ่มค้าปลีกที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศ ได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าครองชีพ และเตรียมได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงถัดไป ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นในกลุ่มนี้ Earnings เตรียมจะปรับตัว Bottom out จากจุดต่ำในไตรมาส 3 ได้ อาทิ CPALL, CPAXT, BJC, CRC, HMPRO, GLOBAL, DOHOME, TNP
นายณัฐชาต กล่าวว่า วานนี้ (31 ตุลาคม) ธปท.รายงานตัวเลขฐานเงินอย่างกว้าง (M2) เดือนก.ย.พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น MoM ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง ทั้งนี้ จากการศึกษาของเราพบว่าตัวเลขดังกล่าวมักมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป รวมถึง Performance ของหุ้นขนาดกลาง-เล็กในช่วงถัดไป ดังนั้นหากสัญญาณ M2 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง เราอาจคาดหวังการทยอยฟื้นตัวของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ทั้งในแง่ของสภาพคล่องและในมิติของผลตอบแทนขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่กลุ่มดังกล่าวปรับตัว Underperform มาตลอดทั้งปีนี้.