สรุปภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ กรณีบุคคลธรรมดามีอะไรบ้าง

22 ม.ค. 2567 | 22:59 น.

ภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนักลงทุนรายย่อย หากมีผลตอบแทนจากการลงทุน ต้องเสียภาษีในรูปแบบใดบ้าง หาคำตอบได้จาก สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA)

ผู้ที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ แต่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุน เช่นกรณีที่มีรายได้หรือกำไรจากการลงทุน  สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA)  ได้ให้ความรู้ เรื่อง"ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้" ไว้ดังนี้

สำหรับนักลงทุนบุคคลธรรมดาหรือนักลงทุนรายย่อย รูปแบบของผลตอบแทน หรือรายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

  • รายได้จากดอกเบี้ย (Coupon)
  • รายได้จากส่วนลด (Discount) 
  • รายได้จากกําไรจากการขาย (Capital Gain)

 

สรุปภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ กรณีบุคคลธรรมดามีอะไรบ้าง

 

ซึ่งผลตอบแทนหรือรายได้ทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะถูกนํามาคิดภาษีในลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โดยที่ผลตอบแทนที่ได้รับในรูปของดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนซื้อตราสารหนี้ไว้ตัวหนึ่ง และตราสารหนี้ตัวนี้จะจ่ายดอกเบี้ย 100 บาท ทุกๆ สิ้นปี คำนวณดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจริงๆ จากการถือตราสารตัวนี้ก็คือ 85 บาทนั่นเอง ( อีก 15 บาทนั้น ถูกคิดเป็นภาษีและถูกหัก ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว )
 

ต่อมามาดูรายได้ที่ได้จากส่วนลด (Discount) กันบ้าง คําว่า “ส่วนลด” ในที่นี้หมายถึงกรณีของตราสารหนี้บางตัว ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย (Zero-Coupon Bond) ดังนั้นในขั้นตอนของการเสนอขายครั้งแรกของตราสารประเภทนี้ผู้ออกตราสารก็มักจะขายให้กับผู้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว (Par Value) โดยหากผู้ซื้อทําการถือตราสารตัวนี้ไว้และไม่ได้ขายให้ใครคนอื่นเลย จนครบกําหนดไถ่ถอน ผู้ออกตราสารก็จะคืนเงินให้ในจํานวนที่เท่ากับมูลค่าหน้าตั๋วนั่นเอง 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนซื้อตราสารประเภทตั๋วเงินคลัง (ซึ่งถือว่าเป็น Zero-Coupon Bond ประเภทหนึ่ง) ที่มีมูลค่าหน้าตั๋วเท่ากับ 1,000 บาท โดยที่เราเป็นผูู้ซื้อคนแรกตั้งแต่ออกขาย หรือเป็นการซื้อจากผู้ออกตราสารโดยตรง (ซึ่งผูู้ออกตราสารในกรณีนี้ก็คือกระทรวงการคลังนั่นเอง) ในกรณีนี้เราสามารถซื้อตราสารตัวนี้ได้ที่ราคาส่วนลด (Discount) สมมุติให้มีค่าเท่ากับ 940 บาท และส่วนลดจํานวน 60 บาท (1,000 – 940) นี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% 

นั่นก็หมายความว่าจากตัวอย่างที่เราสมมุติขึ้นมา เราจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดเท่ากับ 940 + 9 (15% ของ 60 บาท) = 949 บาทนั่นเอง (จากเดินที่ส่วนลดมีค่าเท่ากับ 60 บาท ก็จะเหลือแค่ 51 บาทเนื่องจากว่าถูกคิดเป็นภาษี 15% และถูกหัก ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว) 

ที่สําคัญภาษีจากส่วนลดนี้จะคิดเพียงแค่ครั้งเดียว และคิดเฉพาะกับผู้ซื้อคนแรกเท่านั้น ถ้าหากว่าผู้ซื้อคนแรกทําการขายตราสารให้กับผู้ซื้อคนต่อๆไป และไม่ว่าจะเป็นการขายที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋วหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีส่วนลดอีกแต่อย่างใด (แต่ภาษีจากดอกเบี้ยและภาษีจากกําไรจากการขาย ยังคงต้องถูกนํามาคิดอยู่เหมือนเดิม) 

ส่วนภาษีประเภทสุดท้าย หรือภาษีที่คิดจากกําไรจากการขาย (Capital Gain Tax) นั้น ผู้ลงทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เช่นเดียวกันกับภาษีจากดอกเบี้ย หรือภาษีจากส่วนลด  แต่ถ้าหากการขายนั้นๆ เป็นการขายที่ผู้ขายขาดทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อตราสารหนี้มาที่ราคา 940 บาท และขายไปที่ราคา 980 บาท กําไรที่ได้จากการขายจํานวน 40 บาทนี้จะถูกหักภาษีณ ที่จะจ่ายในอัตรา 15% หรือเท่ากับ 6 บาทนั่นเอง นั่นก็หมายความว่า จากตัวอย่าง เราจะได้รับเงินจากการขายทั้งหมดเท่ากับ 980 – 6  (15% ของ 40 บาท) = 974 บาท แต่ถ้าหากว่า เราซื้อตราสารหนี้มาที่ราคา 940 บาท และขายไปที่ราคา 920 บาท เงินที่ขาดทุนไป 20 บาทนี้ ไม่ต้องถูกนํามาคิดภาษี

ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)