KEY
POINTS
ปัญหา"หุ้นกู้" ยังเป็นประเด็นที่ตามหลอนตลาด ทั้งตัวผู้ถือหุ้นกู้ ก็ต้องตามลุ้นว่าจะได้รับชำระคืนหรือได้รับดอกเบี้ยตามกำหนดหรือไม่ ขณะที่บริษัทผู้ออก Rollover ก็ต้องไปตามลุ้นว่าจะขายหมดหรือไม่จะแก้ปัญหาสภาพคล่องอย่างไร เพราะนับตั้งแต่เดือนแรกของปี 67 ก็มีเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ และมีแนวโน้มว่าจะแซงหน้าปี 66 ทั้งปี
แนวโน้ม"มูลค่าหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้" จ่อแซงปี 66
"ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลให้เห็นดังนี้
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ปัจจุบันมี 7 บริษัท มูลค่ารวม 22,295 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเกิดในปี 2566 จำนวน 5 บริษัท มูลค่าทั้งสิ้น 16,363 ล้านบาท
ล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์ ( บล.) เอเซีย พลัส หรือ ASPS เผยแพร่บทวิเคราะห์ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค.67 ) ประเมินความเสี่ยงหุ้นกู้ในแต่ละอุตสาหกรรมที่ครบกำหนดในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป พบว่าหุ้นกู้ "กลุ่มก่อสร้าง" มีความเสี่ยงที่สุด ส่วน อสังหาริมทรัพย์ และ ปิโตรเคมี มีความเสี่ยงปานกลาง
โดยฝ่ายวิจัย ASPS ระบุได้มีการรวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ของหุ้นที่ทางฝ่ายวิจัย ฯ ได้ทำการศึกษา ได้ผลดังนี้
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง : มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง บริษัทที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) และ ITD เพราะมีหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ค่อนข้างมากในขณะที่ธุรกิจหลักยังมีผลขาดทุนและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมาก ส่วน UNIQ และ SQ ซึ่งมีเครดิตเรตติ้ง BBB- และมีฐานกำไรต่ำ ก็ต้องให้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน
กลุ่มอสังหาฯ (พัฒนาที่อยู่อาศัยและเพื่อเช่า) : มีความเสี่ยงปานกลาง แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูง 1.06 แสนล้านบาท (สัดส่วน 35% ของหุ้นกู้ทั้งหมด) แต่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น LH, CPN, FPT, SIRI, SPALI, PSH และ AP ที่มีธุรกิจมั่นคง การเงินค่อนข้างดี สำหรับบริษัทที่มีผลขาดทุน และ อัตราหนี้สินต่อทุนสูงกว่ากลุ่มฯ อย่าง ANAN ปีนี้มีหุ้นกู้ครบ 7 พันล้านบาท ได้คืนสำหรับเดือน ม.ค. แล้ว 3.8 พันล้านบาท ที่เหลือ 3.2 พันล้านบาท จะครบ ก.ค. 2567 ส่วน PF ปีนี้ครบรวม 6.7 พันล้านบาท เตรียมคืนหุ้นกู้ Q1/67 รวม 2.68 พันล้านบาท เรียบร้อยแล้ว สำหรับหุ้นกู้ที่เหลือต้องติดตามต่อไป
กลุ่มปิโตรเคมี : มีความเสี่ยงปานกลาง บริษัทที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ IVL (AA-) เพราะหนี้รวมค่อนข้างสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจยังมีความผันผวนด้านกำไร เพราะอิงกับราคา commodity ซึ่งแปรผันตามเศรษฐกิจ ต้องให้ความระมัดระวัง
กลุ่ม ICT : ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาและมีการออกหุ้นกู้ คือ ADVANC, TRUE, และ JMART โดยมีมูลค่าคงค้างอยู่รวมกันราว 2.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ 1.8 แสนล้านบาท เป็นของ TRUE ซึ่งในปี 2567 นี้จะครบกำหนดราว 3.6 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทยังมีกระแสเงินสดในการดำเนินงานปีละราว 7 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกราว 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้จากเรตติ้งของบริษัทที่ A+ น่าจะช่วยให้สามารถกู้ยืมเพิ่มเพื่อมาชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้
กลุ่มพลังงาน : โดยภาพรวมมีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูงถึง 6.0 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี เกือบทุกบริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูง PTT (AAA), PTTEP (AAA) มีเพียง BANPU ที่มีหนี้รวมค่อนข้างสูงรวมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท แต่ยังได้รับเครดิตเรทติ้งในระดับที่ดี A+ อาจจะต้องมีการติดตามใกล้ชิด
กลุ่มโรงไฟฟ้า : โดยภาพรวมมีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดถึง 4.1 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี รวมถึงลักษณะธุรกิจจะเป็นการกู้ยืมในสัดส่วนสูง D/E ราว 3:1 ของแต่โครงการโรงไฟฟ้า จึงทำให้มูลหนี้ค่อนข้างสูง อันดับเครดิตเรทติ้งอยู่ในกรอบ AA+ ถึงBBB
กลุ่มพาณิชย์: ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาและมีการออกหุ้นกู้ คือ BJC, CRC, CPALL, CPAXT, HMPRO และ DOHOME มีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างรวมกัน 3.5 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีหุ้นกู้ในมูลค่ามากสุดคือ CPALL ที่ 2.2 แสนล้านบาท (ไม่รวม Perpetual bond 1 หมื่นล้านบาท) รองลงไปเป็น BJC ที่ 8.9 หมี่นล้านบาท โดยในปี 2567 มีหุ้นกู้ของ CPALL, BJC และ HMPRO ที่จะครบกำหนด 2.9 หมื่นล้านบาท, 2.3 หมื่นล้านบาท และ 4 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทุกบริษัทจะไม่มีปัญหา จากฐานะการเงินที่ยังแข็งแกร่ง และเรตติ้งของบริษัทในระดับ A+ (CPALL), A (BJC) และ A- (HMPRO) ที่จะสนับสนุนให้ยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : มีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาทแต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี ทุกบริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูง อาทิ SCC(A), SCCC(A) และ TPIPL (A-)
กลุ่มนิคมฯ : มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจาก rating ของบริษัทนิคมฯ อยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่อเนื่อง ประกอบกับฐานะการเงินแข็งแกร่งสะท้อนจาก net gearing ratio ที่ 0.6 -0.9 เท่า นอกจากนี้หุ้นกู้บริษัทนิคมฯ มีอายุไม่เกิน 5 ปี
กลุ่มจำนำทะเบียน : ถือเป็นกลุ่มที่ใช้ Financial leverage สูง เพื่อนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดีสัดส่วน D/E หุ้นในกลุ่มฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ Debt covenant หรือกรอบการบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนภายในของแต่ละบริษัทที่คุมไม่ให้เกิน 4 เท่า
กลุ่มท่องเที่ยว : CENTEL (Rating A - / Tris) : ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี2567ราว 6 ร้อยล้านบาท ขณะที่สัดส่วน D/E ณ สิ้นงวด 3Q66 อยู่ที่ 0.7เท่า จึงมองความเสี่ยงทางการเงินต่ำ
กลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF และ TU) : มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูงระดับ A+ นอกจากนี้หุ้นกู้มีอายุยาว กระจายตัวครบกำหนดในแต่ละปี โดยปีนี้ครบ 2.8 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 12% ของหุ้นกู้ทั้งหมด)
กลุ่มมีเดีย : มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีหุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้ และบริษัทในกลุ่มที่ฝ่ายวิจัยวิเคราะห์มีฐานะการเงินค่อนข้างดี
กลุ่มบรรจุภัณฑ์ : มีความเสียงต่ำ โดยบริษัทในกลุ่มที่ฝ่ายวิจัยวิเคราะห์คือ SCGP มีฐานะการเงินดี และมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง
กลุ่มขนส่ง : มีความเสี่ยงต่ำ บริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ในธุรกิจขนส่งมวลชนอย่าง BTS และBEM มีเครดิตเรตติ้งสูง และมีกระแสเงินสดเข้ามาสม่ำเสมอ มีอายุหุ้นกู้ยาว และกระจายตัวครบกำหนดในแต่ละปี ไม่กระจุกตัวในปีใดปีหนึ่งเป็นพิเศษ
กลุ่มการแพทย์: ไม่มี concern ที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเพียง BDMS ตัวเดียวที่ออกหุ้นกู้ โดยครบกำหนดชำระจำนวน 1.5 พันล้านบาทในปี 2024 จากมูลค่ารวม 6 พันล้านบาท ซึ่งมีกระกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอในการ service debt Interest coverage ในงวด 9M23 มากกว่า 40.3 เท่า