เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีมติเห็นชอบให้ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อไป โดยเป็น CEO ปตท. คนที่ 11 ต่อจากนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ โดยจะเริ่มปฏิบัติงานบริหารการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า นโยบายการดำเนินงานของ CEO ใหม่อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญนักต่อผลการดำเนินงานของ PTT ในขณะนี้ แต่ผลกระทบที่ต่อจับตาเป็นเรื่องของนโยบายหรือมาตรการทางด้านพลังงานของภาครัฐมากกว่า เพราะจากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานมีผลกดดันมากกว่า
ในช่วงที่ผ่านมาในเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Single Gas Pool) ที่เป็นมาตรการชั่วคราวในเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯอย่างเป็นทางการโดย กกพ. แล้วเสร็จ แต่ความเสี่ยงที่ต้องคำนึงคือ หากว่ามาตราการดังกล่าวถูกใช้เป็นการถาวรอาจกระทบต่อกำไรกว่า 20% ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
ประเด็นที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 นั้น ในฐานะที่ทาง ปตท. เป็นผู้รับซื้อ คาดว่าจะกระทบต่อกำไร PTT ประมาณ 4,300 ล้านบาท มองว่าอาจไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานเท่าไหร่เมื่อเทียบกับ Single Gas Pool
นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การแต่งตั้ง นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. มองว่าการแต่งตั้ง CEO ได้ถูกคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจากองค์กรมาดีแล้ว และการขั้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ปตท. เป็นการวนกันในกลุ่ม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจอยู่แล้ว ในส่วนของนโยบายในการดำเนินธุรกิจนั้น คงต้องรอให้ทาง CEO ใหม่ขึ้นมารับตำแหน่งและแถลงการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ส่วนภาพรวมธุรกิจของ PTT มองว่าราคาหุ้นปัจจุบันได้สะท้อนต่อผลกระทบเชิงลบไปพอสมควรแล้ว แต่เชื่อว่าผลการดำเนินงานของ PTT ในปี 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่ดี
ขณะที่ราคาก๊าซระยะยาวปี 2567 จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 80 เหรียญฯ และค่าการกลั่นทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5-7 ดอลลาร์ ซึ่งอยู่ในสถาวะที่เป็นปกติ
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าประเด็น Single Gas Pool อาจมีผลกระทบกับกำไรในไตรมาส 1/2567 ประมาณ 6,500 ล้านบาท และหากว่ายังไม่มีกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ อย่างเป็นทางการและยังยื้ดเยื้อต่อไปก็คาดว่าอาจกระทบกับกำไรทั้งปีราว 20,000 ล้านบาท ส่วนประเด็น Shortfall ที่คาดว่าจะต้องจ่าย 4,300 ล้านบาท ทาง PTT มีมติอนุมัติปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรรณ์ของ กกพ.
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศหลักร่วมด้วย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเพราะรัฐฯ จีนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวออกมาให้เห็นแล้ว ทำให้คาดว่ากลุ่มหุ้น Community กำไรจะหนักอยู่ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 36.00 บาท
นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด การแต่งตั้งนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO คนที่ 11 นั้น ปัจจุบันยังไม่เห็นนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจน อาจต้องรอให้มีการแต่งตั้งและขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก่อน
แต่ถามว่าความท้าทายจากนี้จะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นเรื่องปกติที่การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจจะมีความท้าทาย เพราะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ภาครัฐใช้หากมีปัญหาทั้งในเรื่องค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันในช่วงที่มีราคาสูง แต่ข้อดีของ PTT คือมีฐานะการเงินที่มั่นคง เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
คำแนะนำการลงทุน PTT (ราคาเหมาะสม 41.00 บาท) ยังคงแนะนำ "ซื้อ" แต่ในระยะสั้นงบในไตรมาส 4/2566 อาจไม่ดีมากนัก สังเกตได้จากบริษัทย่อยในเครือที่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น และผลขาดทุนจากสต๊อก ขณะที่ในไตรมาส 1/2567 กำไรจะได้รับแรงกดดันในเรื่อง Single Gas Pool ส่งผลกระทบในไตรมาส 1/2567 คาดการณ์ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และ Shortfall หรือคิดเป็นมูลค่ารวมๆ ราว 10,000 ล้านบาท จึงมองว่าจังหวะในการลงทุนอาจต้องรอให้ผ่านช่วงประกาศงบไตรมาส 1/2567 ไปก่อน