"ภากร ปีตธวัชชัย" ชี้ดอกเบี้ยไทย 2.50% ยังอยู่ในระดับต่ำ

07 ก.พ. 2567 | 12:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 12:31 น.

ภากร ปีตธวัชชัย มอง กนง. เสียงแตกคงดอกเบี้ย 2.50% เป็นสัญญาณถึงคราวลดดอกเบี้ย ชี้ดอกเบี้ยไทยปัจจุบันยังต่ำกว่าประเทศอื่น ประเมินฟันด์โฟลว์ไหลเข้ส 4 วัน ระยะสั้นจากปัจจัยทิศทางดอกเบี้ยและการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ขณธที่ระยะยาวเชื่อการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหนุน

KEY

POINTS

  • ภากร ปีตธวัชชัย ชี้ กนง.คงดอกเบี้ย 2.50% มีเหตุผล ส่วนตนมองดอกเบี้ยไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่น
  • ภากร ปีตธวัชชัย ฟันด์โฟลวไหลกลับ 4 วัน แรงระยะสั้นตามทิศทางดอกเบี้ยและการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
  • ภากร ปีตธวัชชัย มองการท่องเที่ยวฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโต

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ (7 ก.พ.67) ว่าทางคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีนั้น เชื่อว่าการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย่อมมีเหตุผลว่าเพราะอะไร

และด้วยอีก 2 เสียงที่แตกออกมาว่าเห็นชอบให้มีการลดดอกเบี้ย มองว่าเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจว่ากรรมการบางท่านเห็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับดอกเบี้ยลงได้แล้ว ทั้งนี้ ในมุมมองส่วนตัวแล้ว มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% รวมถึงดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของไทยในขณะนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของไทยตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงบอกได้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในระดับที่สูง

ขณะที่ทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fundflow) ที่เข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยในช่วง 4 วันทำการแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ มองว่ายังไม่สามารถประเมินได้ว่าจากนี้ไปจะกลับเข้ามามากน้อยแค่ไหน คงต้องต้องขอรอดูภาพรวมตัวเลขภายในเดือนนี้ก่อน แม้ว่าช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเริ่มเห็นกลับเข้ามาทุกวัน ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าเงินที่ไหลกลับเข้ามาเป็น Fundflow ระยะสั้นหรือระยะยาว แต่ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าหากเป็นเม็ดเงินระยะสั้นก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องทิศทางดอกเบี้ยและการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วน Fundflow ในระยะยาว อาจมีปัจจัยเชิงบวกจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้แล้วกว่า 3.5 ล้านราย โดยเป็นชาวจีนมากกว่า 6 แสนราย ต้องยอมรับว่า นโยบายฟรีวีซ่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยดูดีขึ้นมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนโตระดับ 40% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และหากเป็นไปได้ต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยในเชิงบวกต่อการกลับเข้ามาลงทุนของต่างชาติอย่างมาก

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่น่าสนใจด้วยคือเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวมโตหรือไม่ มีกลุ่มอะไรบ้างที่กลับมาเป็นบวก รวมถึงมีปัจจัยอะไรบ้างที่เข้ามาช่วยเสริมให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมามีการเติบโตได้ทั้งหมดแทนที่จะโตแค่บางส่วน โดยประเด็นที่สำคัญตอนนี้คือภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องจับตามอง

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กระแสเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยแล้ว 4 วันทำการแรกของเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่ารวมราว 7,000 ล้านบาท ถือว่ายังไม่มากเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ไหลออกไปกว่า 30,000 ล้านบาท โดยการกลับมาของฟันด์โฟลว์ต่างชาติในครั้งนี้ไม่ได้มาที่ตลาดหุ้นไทยเพียงตลาดเดียว แต่กลับมาทุกตลาดทั้งภูมิภาค จึงต้องขอรอดูความชัดเจนของตัวเลขภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก่อน

นอกจากนี้ มองว่าปัจจัยที่จะทำให้เห็นสัญญาณฟันด์โฟลว์ไหลกลับมาชัดเจนคือเรื่องกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่หากออกมาดีก็จะช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าได้ โดยคาดว่าปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นไทย ได้แก่

  1. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 67 ขยายตัว 4.4% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3.6%
  2. ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กลับเข้ามาเพิ่มสูงขึ้น
  3. มูลค่าของหุ้นไทยที่ไม่สูงมากนัก โดยปัจจุบันอัตราส่วน Price to Book (P/B ratio) ของ SET Index ยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.35 เท่า