"อินเด็กซ์" รับอานิสงส์ Easy E-Receipt หนุนยอดขายไตรมาสแรกปี 67 พุ่ง

18 มี.ค. 2567 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 07:15 น.

ILM มองไตรมาส 1/67 ยอดขายเด่น รับอานิสงส์ Easy E-Receipt วางเป้ายอดขาย 3 ปี (67-69) ยอดขายเติบโตแบบตัวเลข 2 หลักต่อเนื่อง เร่งเครื่องเปิดสาขาทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม พร้อมเดินหน้ามุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM ผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน และของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมธุรกิจและแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่องไตรมาส 1/67 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

สอดคล้องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากโครงการ Easy E-Receipt ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนยอดขายเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าการเติบโตของยอดขายในปี 67-69 จะรักษาระดับให้ได้แบบตัวเลข 2 หลัก ต่อเนื่อง

สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 67 วางเป้าขยายผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ “INDEX NEXTPERIENCE & BEYOND + SUSTAINABLE FUTURE” เป็นนโยบายและกรอบแผนงานภายใน 3 ปีนี้

โดยยึดแนวคิด Triple Bottom Line สูตร 3P Performance - People - Planet เพื่อสร้างการตลาดในใจคนสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ในด้าน “Performance” การดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) มุ่งเน้นที่การขยายขอบเขตธุรกิจ โดยวางแผนเปิด อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สาขาใหม่เฉลี่ย 1-2 สาขา/ปี

ในปี 67 บริษัทมีแผนที่จะขยาย Little Walk อีก 1-2 สาขา ได้แก่ สาขารัตนาธิเบศร์ มูลค่าลงทุนแระมาณ 550 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 12 ไร่ ประกอบด้วย อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ขนาด 6,340 ตร.ม. และพื้นที่ร้านค้าเช่า 10,100 ตรม. ซึ่งจะพร้อมให้บริการใรไตรมาส 4/67 ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผน รีโนเวทสาขาเดิมด้วยดีไซน์ใหม่ 1-2 สาขา/ปี โดยในปี 67 บริษัทเตรียมปรับปรุง อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สาขาเชียงใหม่ และอุดรธานี

พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมเปิด “DecorScape” แหล่งช้อปแห่งใหม่ใจกลางทองหล่อ มูลค่าลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท ซุ่งจะเป็น Lifestyle Mall ดีไซน์ Modern Luxury รูปแบบอาคาร 3 ชั้น บนพื้นที่ขนาด 3,000 ตร.ม.

อีกทั้งบริษัทจะเปิดตัว New Store Model ต้นแบบอาคารประหยัดพลังงานรายแรกของธุรกิจค้าปลีกไทยและรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สาขาสระบุรี บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ทุ่มงบกว่า 170 ล้านบาท คาดเปิดบริการไตรมาส 1/68

ส่วนแผนการขยายตลาดในต่างประเทศนั้น ในปี 67 บริษัมเตรียมขยายเพิ่มอีก 4 สาขา ที่เวียดนาม 2 สาขา (เมืองโฮจิมินห์) และเมียนมาร์ 1 สาขา (เมืองมัณฑะเลย์) และประเดิมการขยายตลาดไปยังอินเดีย ที่เมืองปุเณ (Pune)

พร้อมกันนี้ยังมองโอกาสขยายขอบข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าไปยังกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่โซนตะวันออกกลาง เช่น ดูไบ, ซาอุดิอาระเบีย จากปัจจุบันขยายไปแล้ว 12 สาขา ใน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 2, เมียนมาร์ 4, ลาว 1, กัมพูชา 2, เนปาล 2 และ มัลดีฟส์ 1 สาขา 

นอกจากการขยายสาขาแล้วยังพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ ให้เติบโต 20% บริษัทมองเห็นโอกาสเติบโต และเพิ่ม TikTok Shop เป็นช่องทางในการทำตลาดและจัดจำหน่ายสินค้า โดยมีทีมงาน LIVE Streaming โดยเฉพาะ ตลอดจนการขยายฐานลูกค้าใหม่

ขณะเดียวกันบริษัทได้พัฒนาสินค้าอย่างหลากหลายทั้งดีไซน์และฟังก์ชันตอบโจทย์ความต้องการกลุ่ม New Gen เน้นการสร้าง Digital Experience และ Pop Display ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ เชื่อมไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้ง ควบคู่การรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยขยายไลน์สินค้าแบรนด์ Furinbox จากออนไลน์สู่ออฟไลน์วางจำหน่าย 22 สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งจะจับกลุ่มลูกค้า C ที่มีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ในประเทศ รวมถึงการขยายสินค้าในกลุ่ม Customized ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น

ในด้าน “People” มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้เหนือกว่า (Beyond Experience) โดยการสร้างกลยุทธ์ให้เหมาะกับพฤติกรรมและความต้องการเฉพาะของลูกค้า เช่น การนำเทคโนโลยีมาช่วยด้านการส่งเสริมการขายและบริการ เห็นได้ในไตรมาสแรกที่ ILM พัทยา ด้วย Generative AI for interior design นำเทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ  สำหรับงานดีไซน์ ช่วยลดขั้นตอนให้ง่ายและรวดเร็วต่อการทำงานของดีไซน์เนอร์

ขณะเดียวกันเพิ่มความสะดวกสบาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด หรือแม้แต่ การพัฒนาโปรแกรมเพื่อการออกแบบ เพิ่มประสิทธิภาพบริการด้านดีไซน์ ส่งเสริมการขายในกลุ่มสินค้า Customized Furniture และ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ให้จบครบลูป ตลอดจน Index Mobile App บริการแอปพลิเคชั่นของคนรักการแต่งบ้าน ที่เตรียมเปิดตัวในไตรมาส 2/67

รวมถึงบริการต่างๆ ที่สร้างประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้า และ ด้าน “Planet” แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม (Sustainable and Ethical Practices) การผลิตและพัฒนาสินค้าเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ Eco Product เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, พัฒนาสินค้าที่สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี, พัฒนาสังคมที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมและร่วมพัฒนาสินค้ากับกลุ่มรัฐวิสาหกิจและชุมชน ชูอัตลักษณ์-ภูมิปัญญาท้องถิ่น