นายเมธ์ ปุ่มเป้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LDG เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการนำบริษัทฯ ระดมทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทางที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม หลังจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (บล. หยวนต้า ประเทศไทย) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟล์ลิ่ง) เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตเสนอหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ต่อก.ล.ต.เมื่อ 9 มกราคม 2567
ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้จริง เบื้องต้นบริษัทมีแผนจะบุกตลาดรับซื้อหนี้ โดยมองอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 35% และภายใน 3 ปีหลังจากเข้าตลาดประมาณการเติบโตไว้กว่า 100%
ในส่วนของบริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ปปัจจุบันให้บริการทั้งรับซื้อและรับจ้างบริหารติดตามทวงถาม โดยมีฐานลูกค้าทั้งสินเชื่อบัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคล revolving personal loan ถ้ารายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทดอกเบี้ยจะแพง แต่กลุ่มลูกค้าระดับกลางที่วงเงินอนุมัติ 2-3 แสนบาทนั้น อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15%ต่อปี ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาลูกค้ามีกำลังจ่ายหนี้ได้มากขึ้น แต่ไม่แน่ใจจะเป็นสัญญาณหลอกหรือไม่ต้องดูไปอีกระยะ
ขณะที่ภาพรวมการติดตามทวงถามของบริษัทเดือนม.ค.-ก.พ.มีสัญญาณบวก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โอกาสในการเรียกเก็บดีกว่าปีก่อนประมาณ 5% ส่วนหนึ่งปีนี้ผลกระทบจากโควิดคลี่คลายมากขึ้น จาก 2-3 ปีก่อนที่สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการลงพื้นที่ในการพบปะลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าบางส่วนที่บริษัทดำเนินการทางศาลไปก่อนหน้า
“ปีนี้เราได้อบรมพนักงานในการติดตามลูกหนี้และทำตลาดเต็มที่ โดยต้นปีเพิ่มพนักงาน 30 คนจากปีที่แล้ว ปัจจุบันมีพนักงานรวมเป็น 980 คนและจากการลงพื้นที่ได้พบลูกค้าสามารถเรียกเก็บหนี้ได้ประมาณ 25 รายจาก 100 รายเฉลี่ยต่อรายมากกว่า 40% ส่วนเป้าหมายการรับซื้อหนี้ปีนี้คาดว่า จะเติบโต 30% จากปัจจุบันฐานลูกค้าประมาณ 3 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 29,000ล้านบาทส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กับมอเตอร์ไซด์ ส่วนบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 2,000 ล้านบาท
ล่าสุดต้นปีนี้บริษัทขยายฐานรับซื้อลูกหนี้ประเภทสินเชื่อมอเตอรไซด์เข้ามา 1 รายมีจำนวนบัญชีค่อนข้างมากกว่า 1.6 แสนราย แต่มูลหนี้ประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท โดยพอร์ตรับจ้างติดตามทวงถามตั้งเป้าเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ทั้งบัตรเครดิต มอไซด์ ขณะที่เป้ารายได้ทั้งปีคาดว่าจะเติบโตประมาณ 20% (รวมพอร์ตรับซื้อและรับจ้างติดตามทวงถาม) จากปีที่แล้วบริษัทมีรายได้เข้ามามากกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปีนี้ สัญญาณน่าจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มเช่าซื้อมากกว่ากลุ่มบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลแบบหมุนเวียนหรือบัตรเครดิต ซึ่งในกลุ่มบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หากจะมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มเก่าที่ใช้เงินหมุนไปหมุนมา (หมุนเวียน) ซึ่งมีไม่มาก เพราะที่ผ่านมา 3-4 ปีสถาบันการเงินผู้ให้บริการค่อนข้างคัดเลือกลูกค้าคุณภาพก่อนจะอนุมัติพอสมควรแล้ว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,977 วันที่ 24 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2567