การลงทุนในตลาดหุ้นไทยซบเซาอย่างหนัก มูลค่าการซื้อขายที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่างประเทศไทย(SET Index) ไตรมาสแรกปี 2567 ปรับลดลงแล้ว 2.7% มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.38 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูล "มูลค่าการซื้อขาย" ตลาดหลักทรัพย์ ย้อนหลัง 5 ปี (2562-2566) พบว่า มูลค่าการซื้อขาย 5 ปีย้อนหลัง รวมทั้งสิ้น 82.81 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 6.49 หมื่นล้านบาท/วัน และในช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายเคยทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 2.04 แสนล้านบาท ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และทำจุดต่ำสุดที่ 2.13 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 25 ธันวาคม 2562
ทั้งนี้ หากแยกมูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเป็นรายปี พบว่า
ในปี 2562 มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ระดับ 12.80 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ประมาณ 5.51 หมื่นล้านบาท โดยที่ดัชนีปิดตลาด ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 1548.65 จุด เปลี่ยนแปลง 15.96 จุด หรือ 1.02% จากดัชนีปิดตลาดในปีก่อนหน้าที่ 1563.88 จุด ซึ่งในช่วงระหว่างปีดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1740.91 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1548.65 จุด
ปี 2563 มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ระดับ 16.36 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ราว 6.73 หมื่นล้านบาท โดยดัชนีปิดตลาด ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 1449.35 จุด เปลี่ยนแปลง -130.49 จุด หรือ -8.26% จากดัชนีปิดตลาดในปีก่อนหน้าที่ 1579.84 จุด ในช่วงระหว่างปีดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1600.48 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1024.46 จุด
ปี 2564 มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ระดับ 21.31 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่กว่า 8.84 หมื่นล้านบาท โดยที่ดัชนีปิดตลาด ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1657.62 จุด เปลี่ยนแปลง 208.27 จุด หรือ 14.37% จากดัชนีปิดตลาดในปีก่อนหน้าที่ 1449.35 จุด ในช่วงระหว่างปีดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1657.62 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1466.98 จุด
ปี 2565 มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ระดับ 17.16 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ราว 7.12 หมื่นล้านบาท โดยดัชนีปิดตลาด ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1668.66 จุด เปลี่ยนแปลง 11.04 จุด หรือ 0.67% จากดัชนีปิดตลาดในปีก่อนหน้าที่ 1657.62 จุด ในช่วงระหว่างปีดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1712.20 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1533.37 จุด
และในปี 2566 มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ระดับ 12.41 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ประมาณ 5.10 หมื่นล้านบาท โดยดัชนีปิดตลาด ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ระดับ 1415.85 จุด เปลี่ยนแปลง -252.81 จุด หรือ -15.15% จากดัชนีปิดตลาดก่อนหน้าที่ระดับ 1668.66 จุด ในช่วงระหว่างปีดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1691.41 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1357.97 จุด
ตลาดหุ้นขาดความเชื่อมั่น
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัดเปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่เปิดต้นปี 2567 มาจนถึงปัจจุบัน ตกเฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายลดลงมาอยู่ที่ราว 4.4 หมื่นล้านบาท/วัน ในช่วงไตรมาส 1/2567 มองว่า หลักๆ เป็นผลมาจากความเชื่อมันของนักลงทุน ซึ่งถือว่าเป็น "หัวใจสำคัญ" ทำให้ Volume เทรดหายออกไปจาก SET
ทั้งนี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า SET ในขณะนี้อยู่ในสภาวะ "ความไม่เท่าเทียม" ในการเทรด ทั้งเรื่องของการเกิด Naked Short Selling ที่ก็ยังไม่เห็นมาตรการดูแลที่ถูกจุด รวมถึงประเด็น Program Trading (PT) ที่ถาครัฐได้มีเปิดตัวเลขออกมาว่า ปริมาณการเทรดของ PT นั้นไม่ต่ำกว่า 40% ของปริมาณการเทรดทั้งหมดของ SET ในปัจจุบัน และในบางวัน PT มีสัดส่วนสูงเกินกว่า 50% สะท้อนให้เห็นถึงว่า PT เข้ามามีบทบาทที่อาจเยอะมากจนเกินไป
ซึ่งก็ไม่เพียงรายย่อยที่โดนผลกระทบดังกล่าว แต่รวมไปถึงรายใหญ่ด้วย ที่ออกปากบ่นว่าเหมือน "กำลังสู้กับ PT" ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Volume การเทรดเหือดแห้งและหายไปในปัจจุบัน และทำให้คนเริ่มออกจาก SET ไปในที่สุด
นอกจากนี้ จากสัญญาณทางเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ปลายปีก่อนหน้าตลาดเคยคาดหวังกันไว้ว่าตัวเลข GDP ปีนี้อาจเติบโตขึ้นในระดับ 3% ต้นถึงกลาง หรืออาจสูงถึง 4% แต่ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้า การเบิกจ่ายงบประมาณปีที่ชะลอแล้วชะลออีก ทำให้ GDP ปีนี้ลดเหลือ 2% กว่าๆ เท่านั้น
นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาในครั้งนี้ที่เต็มไปด้วยความคาดหวังที่สูง ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปี 2566 จนถึงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็น "ยาแรง" เข้ามากอบกู้เศรษฐกิจได้ มีเพียง Easy E-Receipt ที่เข้ามาช่วยได้บ้างเล็กน้อย นอกนั้นก็ยังไม่เจอไม้เด็ดอะไร ทำให้ไม่เอื้อต่อโมเมนตัมในการลงทุน หากเปรียบเทียบตัวตัวเลขการเติบโตของ GDP ตลาดเพื่อบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ที่สูงมากกว่า 4% ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทย "ไม่เซ็กซี่" เท่า ความน่าสนใจจึงลดลง
ขณะเดียวกันโครงสร้างของ SET ก็ยังเดิมๆ หน้าหุ้น IPO ที่เข้ามาก็เดิมๆ ไม่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ หากไปเทียบกับกับตลาดสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างมีความหลากหลายของธุรกิจและอุตสาหกรรม มีความว้าวมากกว่า ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มทยอยตัดหุ้นออกจาก SET ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ มอง Valuation SET เทรดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 14 เท่า เทียบกับในอดีตที่ 16-17 เท่า ถือว่าถูกมาก แต่ถูกอย่างเดียวคงไม่ได้มันต้องมีอัตราการเติบโตที่ดีด้วย กำไรต้องไม่ถอยหลังลงคลอง
ทั้งนี้ ประเมินว่า Trading Volume ในช่วงไตรมาส 2/2567 จะยังคงอยูาในสภาพที่บางเบา ยังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นความน่าสนใจในการลงทุนของ SET เพราะจากตัวเลขการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 การลงทุนโครงการใหม่ต่างๆ ของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมถึงบทสรุปที่ชัดเจนของโครงการ Digital Wallet
ดัชนี SET Index ในปัจจุบันยังไม่สามารถทะลุแนวต้านสำคัญ 1400 จุดได้ เทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด ที่ดัชนีปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1000-1200 จุด อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
"ขณะนี้ไทยเลยจุดวิกฤตนั้นมาแล้ว แต่ดัชนียังยืนอยู่ที่ 1300 จุด ไม่ไปไหน มองว่ามันก็ยังน่าเกลียดไปเพราะตอนนี้มาไกลจากวิกฤตโรคระบาดนั้นมาแล้ว จากนี้ก็ต้องรอดูภาครัฐว่าจะบูธความเชื่อมั่น บูธเศรษฐกิจในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในไตรมาส 2/2567 ควรเป็นไตรมาสของความคาดหวัง และเห็นผลเชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลัง"
เชื่อว่าดัชนี SET Index ตอนนี้พร้อมขึ้นแล้ว หุ้นใหญ่ลงมาอยู่โซนล่างกันหมดแล้ว หากเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) ก็จะไหลกลับมามากขึ้น ซึ่งด้วยพฤติกรรมการกลับมาก็จะเข้าหุ้นใหญ่พร้อมๆ กัน ทำให้คาดว่าจะเข้ามาช่วยดัน P/E ให้ขยับขึ้น 1-2 เท่าได้ ไม่ใช่เรื่องยาก
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 1/2567 Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.9 พันล้านเหรียญ มาเลเชีย 180 ล้านเหรียญ สวนทางกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคที่ล้วนเป็นบวกทั้งหมด โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันที่ยังเข้าต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายประเมินกรอบดัชนี SET Index ในช่วงไตรมาส 2/2567 ไว้ที่แนวต้านสำคัญที่ 1400 จุด และหากว่าผ่านไปได้ก็มีโอกาสที่จะไปชนที่แนวต้านถัดไปที่ระดับ 1430 จุด
ขณะที่แนวรับมองว่าโซน 1350 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดเดิมที่คยทำมาในช่วงรัหว่างเปิดต้นปีถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง แต่หากว่าความเชื่อมั่นยังไม่กลับมา ยังไม่เห็นยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมตลาดยังเรียกความเชื่อใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่ได้ ก็อาจไปทำจุดต่ำสุดที่ 1300 จุด