นางสาวพรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าปริมาณการจำหน่ายในช่วงไตรมาส 2/2567 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 514,000 บาร์เรล/วัน จากในไตรมาส 1/2567 ที่มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 473,048 บาร์เรล/วัน หลักๆ เป็นผลมาจากโครงการ G1/61 เอราวัณ (แหล่งเอราวัณ) ที่เดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นไตรมาสแรก ส่งผลให้ปริมารการจำหน่ายทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 509,000 บาร์เรลฯ/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 406,000 บาร์เรล/วัน
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ คาดอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMBTU) อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2567 โดยคาดว่าทั้งปี 2567 ราคาเฉลี่ยอจะยู่ที่ระดับ 5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะมีการปรับราคาย้อนหลังตามราคาตลาดโลก รวมถึงเข้ามาของโครงการ G1/61 และ G2/61 ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราถัวเฉลี่ยรวมของราคาก๊าซฯ ต่ำลงเล็กน้อย จาก 2 โครงการดังกล่าวมีราคาก๊าซฯ ต่ำกว่าระบบสัมปทานเดิม
ส่วนราคาก๊าซ LNG ปี 2567 นี้ ตลาดคาดอยู่ที่ 9-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ปรับตัวลงจากปีก่อน จากซัพพลายที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ โดยหลักเป็นประเทศสหรัฐ และอินโดนีเซีย
ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบในช่วงไตรมาส 2/2567 คาดจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2567 ตลาดคาดจะอยู่ที่ระดับ 70-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาน้ำมัน คือ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จีน และอินเดีย ขณะที่อุปทานต้องจับตามองนโยบายการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ที่ปัจจุบันมีการประกาศออกมาแล้วว่าจะลดกำลังการผลิตถึงสิ้นไตรมาส 2/2567
ทั้งนี้ ทางตลาดก็คาดการณ์ว่าโอกเปกพลัสน่าจะคงการลดกำลังการผลิตนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ส่งผลให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัว ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยังตึงตัวต่อในปีนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก คาดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในตะวันออกกลาง ที่อาจกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบ รวมถึงอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาค อีกทั้งในยุโรปตะวันออก หรือรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่ชัดเจน
ในด้านต้นทุนต่อหน่วยในช่วงไตรมาส 2/2567 และทั้งปี 2567 คาดจะอยู่ที่ 28-29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่ารักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้ที่แข็งแกร่งระดับ 70-75%
สำหรับงบการลงทุนในช่วง 5 ปี (67-71) บริษัทยังคงไว้ที่ระดับ 32,600 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนปีนี้ประมาณ 6,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์ และรายจ่ายการดำเนินงานราว 2,500 ล้านดอลลาร์
โครงการที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ได้แก่ โครงการ LANG LEBAH ในประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้ และคาดเริ่มผลิตก๊าซฯ ได้ในปี 2571 เป็นต้นไป, โครงการ Mozambique ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ในกลางปี 2567
รวมถึงโครงการที่อยู่ในระยะการสำรวจที่สำคัญ ที่คาดว่าจะสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ได้แก่ แหล่ง Waset ในประเทศตะวันออกกลาง หลังค้นพบก๊าซฯ ไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมแผนพัฒนา เพื่อยื่นให้กับภาครัฐ เพื่อตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้ายต่อไป นอกจากนี้ยังมีแหล่งสำรวจในประเทศมาเลเซียอีกหลายแหล่ง ที่ PTTEP ตั้งใจจะพัฒนาร่วมกันเป็นคลัสเตอร์
ประเด็นจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมานั้น ทางบริษัทยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซยาดานา และซอติก้า ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เมียวดี และอยู่ไกลออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยทั้ง 2 แหล่งถือเป็นแหล่งที่ผลิตก๊าซฯ ให้กับเมียนมาด้วย