ปมการเมือง-ถอดถอนนายกฯ ฉุด ดัชนี SET Index ร่วง 17.38 จุด

10 มิ.ย. 2567 | 07:19 น.
อัพเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2567 | 07:31 น.

โบรกชี้ ประเด็น "ถอดถอนนายกฯ" สร้างแระกระเพื่อมความกังวลใจ ฉุดดัชนี SET Index ร่วง 17.38 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,315.36 จุด นักลงทุนแห่ปรับพอร์ตลดน้ำหนักการลงทุน ประกอบกับเข้าโลวซีซันผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ชี้ครึ่งหลังปีเศรษฐกิจดีขึ้น ยังมีจังหวะลงทุน

ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วันนี้ (10 มิ.ย.67) ในช่วงเวลา 14.07 น. ดัชนีปรับตัวลดลง 17.38 จุด หรือประมาณ 1.30% มาอยู่ที่ระดับ 1,315.36 จุด มีมูลค่าการซื้อขายสุทธิอยู่ที่ระดับ 24,327.92 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันดัชนีปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,329.81 จุด ก่อนที่จะย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,313.26 จุด จากดัชนีที่เปิดตลาดช่วงเช้าวันนี้ที่ระดับ 1,328.90 จุด

ปมการเมือง-ถอดถอนนายกฯ ฉุด ดัชนี SET Index ร่วง 17.38 จุด

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สาเหตุของการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันนี้ (10 มิ.ย.67) หลักๆ เป็นผลมาจากความกังวลใจของนักลงทุนต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความไม่แน่นอนเป็นหลัก โดยเฉพาะข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะในเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนำเอาเรื่อง "ถอดถอนนายกฯ" เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครั้งถัดไปที่จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 นี้

รวมถึงความกังวลต่อความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนในแง่ร้ายที่สุดคือความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล หรือการยุบสภา ที่อาจมีผลกระทบให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ถูกแก้ไขปัญหาและถูกแช่แข็งต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนมีการปรับพอร์ตและลดน้ำหนักการลงทุนลง ซึ่งจากนี้คงต้องให้การจับตารอดูผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาในทิศทางใด

นอกจากนี้ มองว่าตามปกติแล้วในไตรมาส 2 จะเป็นโลวซีซันของบริษัทจดทะเบียน ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้อาจชะลอตัวลงกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น นักลงทุนจึงมีการลดน้ำหนักการลงทุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังดูซึมตัวลง แต่มองว่ายังมี 2-3 กลุ่ม ที่มีความน่าสนใจและยังสามารถลงทุนได้อยู่ ได้แก่

  1. กลุ่มหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากกำลังซื้อที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ท และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ได้แก่ หุ้นกลุ่มค้าปลีก CPALL และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม OSP
  2. กลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า ได้แก่ หุ้นกลุ่มอาหาร BTG TU และหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ HANA
  3. กลุ่มหุ้น ITC ที่มองว่าแวลูเอชั่นไม่แพง การแข่งขันลดลง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ได้แก่ ADVANC SAMART และ SYNEX เป็นต้น