“คดีหุ้นSTARK” หรือ คดีผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 15,000 ล้านบาท โดยหนึ่งในผู้บริหารที่ถูก กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ออกหมายจับนั่นคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารของ STARK ซึ่งได้มีการหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประสานรัฐไปยังสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อขอให้ช่วยติดตามจับกุมตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังทางการไทยสืบทราบมาว่า ขณะนี้นายชนินทร์ หลบหนีคดีอยู่ที่นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์
จนเมื่อสุดช่วงเช้าวันนี้ (22 มิถุนายน 2567) นายกรัฐมนตรี ได้รับการประสานจากทางการสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าได้เข้าควบคุมตัวนายชนินทร์ตามการร้องขอของรัฐบาลไทยไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการให้ทาง DSI บินด่วนไปรับตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ กลับมาดำเนินคดีในไทยโดยทันที คาดว่า DSI จะนำตัวนายชนินทร์กลับมาถึงประเทศไทยประมาณ 08.00 น. วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 นี้
สำหรับกรณี "คดีหุ้น STARK" นั้น ที่ผ่านมา DSI ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน หนึ่งในนั้นคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ แต่หลบหนีออกประเทศ โดยได้สั่งฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม เรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการลงข้อความเท็จ การทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงในบัญชีหรือเอกสาร บริษัท STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 65-66
โดยระบุว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก มีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ กรณีหุ้น STARK ซึ่งมีนายชนินทร์ฯ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน กรณีดังกล่าวสำนักงาน ปปง. เคยดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 16 รายการ มูลค่าประมาณ 354 ล้านบาท