3 ปัจจัยชี้เม็ดเงิน "กองทุน TESG" อาจไม่ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยตามที่หวัง

25 มิ.ย. 2567 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 08:26 น.

โบรกฯ ประเมินเม็ดเงินจาก THAIESG ใหม่ อาจไม่ได้ถูกดึงเข้าตลาดหุ้นไทย ตามที่รัฐคาดหวังจะได้ 3-4 หมื่นล้าน ด้วยเงื่อนไขยังคงกําหนดให้เลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้เกินกว่า 80% NAV จับตารูปแบบกองที่ออก "บล.ทรีนิตี้" ประเมินมีโอกาสสูงที่ บลจ.จะเลือกเปิดกอง TESG Bond

จากการที่หน่วยงานรัฐ "คลัง-ก.ล.ต.-ตลท." ร่วมขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นตลาดทุน และหนึ่งในมาตรการด้วยการนำ "กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ Thai ESG (TESG ) มาปรับเงื่อนไขใหม่ให้จูงใจนักลงทุน โดยปรับลดระยะเวลาถือครองลงเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี พร้อมเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 3 แสนบาท จากเดิม 1 แสนบาท โดยคลังคาดเม็ดเงินใน TESG ตัวใหม่จะระดมทุนได้ราว 3 - 4 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยจะเปิดให้ลงทุนได้เริ่มในเดือน ก.ค. 2567 

อย่างไรก็ดี 3 ปัจจัย โบรกฯ ประเมินว่าเม็ดเงินจากกองทุน THAIESG ใหม่ อาจไม่ได้ถูกดึงดูดเข้าสู่หุ้นกลุ่ม ESG หรือตลาดหุ้นไทยโดยรวมตามที่รัฐคาดหวัง นั่นก็เพราะ

  • 1.ด้วยนโยบายลงทุนตามเงื่อนไข THAIESG ใหม่ ยังคงกําหนดให้เลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้เกินกว่า 80% ทรัพย์สินสุทธิ
  • 2.คาดบริษัทจัดการหลายแห่งในปีนี้ จะเลือกเปิดตัวกองทุน TESG BOND หรือที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนสูง 
  • 3.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มปรับลง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้จําพวกพันธบัตรนี้มีโอกาสสูงที่จะสร้างกําไร  

3 ปัจจัยชี้เม็ดเงิน \"กองทุน TESG\" อาจไม่ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยตามที่หวัง

 

แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่า รูปแบบการจัดตั้งกองทุนที่ออกมาจะเน้นลงทุนแบบใด

 

สำหรับเงื่อนไขนโยบายลงทุนของ "กองทุน THAIESG ใหม่" กำหนดประเภทการลงทุน  ดังนี้

 นโยบายลงทุน > 80% NAV 

  •  (1) หุ้นใน SET/MAI โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) / ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระดับการประเมิน cg rating ของ IOD และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) ในระดับ และ รูปแบบ ที่ ก.ล.ต. ก่าหนด
  •  (2) ESG Bond 
  •  (3) Green Token
  • (4) หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล  ( อ่าน: ตารางประกอบเทียบเงื่อนไข TESG ปัจจุบัน )

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การหันมาใช้กองทุน(TESG) ในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้น ในมิติของวงเงินลดหย่อนภาษีที่อยู่สูงสุดเพียงแค่ 3 แสนบาทต่อราย แม้เงื่อนไขเวลาการถือครองลงเหลือเพียง  5 ปีเต็มที่ แต่ที่สําคัญที่สุด เรามองไปที่เงื่อนไขนโยบายตราสารการลงทุน ซึ่งหากในมาตรการครั้งนี้ไม่ได้มีการกําหนดให้นโยบายการลงทุนถูกจํากัดอยู่เฉพาะในตราสารทุนหรือหุ้นเท่านั้น (โดยข้อเสนอที่ออกมายังอนุญาตให้ลงทุนในESG Bond ต่อได้ ) 

ประเมินว่ามีโอกาสที่บริษัทจัดการหลายแห่งในปีนี้จะเปิดตัวกองทุน TESG ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนก็มีสูงมาก โดยใช้อัตราผลตอบแทนที่เป็นบวกในช่วงที่ผ่านมาเป็นตัวชูโรง (สวนทางกับดัชนี SETESG ที่ติดลบYTD ไปแล้ว 9%)

และไม่เพียงแค่นั้น หากมองว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในชวงถัดไปมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนอาจประเมินว่าการลงทุนในตราสารหนี้จําพวกพันธบัตรนี้มีโอกาสสูงที่จะสร้างกําไรสวนเพิ่มได้อีกด้วย ซึ่งไม่ได้มีแค่ความปลอดภัยอย่างเดียวเท่านั้น  
 

โดยสรุปแล้ว เราจึงมองว่าผลกระทบของมาตรการนี้ในแง่ของเม็ดเงินที่จะถูกดึงดูดเข้าสู่หุ้นกลุ่ม ESG หรือตลาดหุ้นไทยโดยรวมอาจไม่มีนัยสําคัญ หากนโยบายยังกําหนดให้กองทุน TESG สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้เกินกว่า80%ของทรัพย์สินสุทธิ 

บล.ลิเบอเรเตอร์ มองเงื่อนไขกองทุน TESG ใหม่ เป็น Slightly Positive  เนื่องจากระยะเวลาการถือครองที่ลดลงเหลือ 5 ปีอยู่ในระดับที่น่าสนใจ รวมทั้งเป็นเม็ดเงินใหม่ราว 3 แสนบาทต่อคน ซึ่งคาดจะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดทุนได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับกองทุน TESG มีบางส่วนที่สามารถลงทุนใน ESG Bond ได้ ซึ่งจุดนี้ค่อนข้างแย่กว่า หากเทียบกับกองทุน LTF แบบเดิมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย โดยคาดมาตรการนี้เตรียมส่งเข้า ครม. ภายใน 1- 2 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกได้

ขณะที่ บล.เอเชีย พลัส เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ล่าสุดวันนี้ (25 มิ.ย.) ว่าการจัดตั้งกองทุน THAIESG ใหม่ มาในเวลาที่เหมาะสมได้พอดี เพราะ ณ SET INDEX ตรงนีมี VALUATION ที่น่าสนใจมาก หลังดัชนีเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมี P/E เพียง 14.3 เท่า, PBV 1.22 เท่า และDIVIDEND YIELD 3.5% น่าจะจูงใจให้เม็ดเงินไหลเข้ามาในกองทุน THAIESG ใหม่และตลาดหุ้นได้มากขึ้นในช่วงนี้ โดยสรุปดังนี้

1. ระยะเวลาการถือครองเพียง 5 ปี สั้นกว่ากองทุนประหยัดภาษีทั้งหมด และกระจายตัวซื้อในเวลาไหนของปีก็ได้ถือว่าดีกว่า LTF ที่ถือครอง 7 ปีปฏิทินมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาเม็ดเงินไม่จำเป็นต้องไปกระจุกตัวซื้อกันในช่วงเดือน ธ.ค. เหมือน LTF ในอดีต ที่แรงซื้อเกือบ 45% อยู่ในเดือนนี้และแรงซื้อกว่า65% กระจุกตัวเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปี และอาจจะช่วงพยุงตลาดในช่วยเวลาหุ้นตกหนักได้ดี

2. อาจหนุนให้เม็ดเงินที่เคยไหลออกไปกองทุนต่างประเทศ หลัง LTF หมดไปกว่า 1 แสนล้านบาท ไหลกลับเข้ามาบ้าง ตั้งแต่กองทุน LTF หมด สิทธิในการลดหย่อนภาษีในปี 2020 มีกองทุนต่างประเทศ (FIF) เพิ่มขึ้นจาก 743 กองทุน เป็น 1174 กองทุน หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 431 กองทุน หนุนให้มีเม็ดเงินสลับไปซื้อจน AUM เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท แต่หลังจาก THAIESG ใหม่ พร้อมกับหุ้นย่อตัวลงมา ก็อาจจะหนุนให้เม็ดเงินดังกล่าวสลับเข้ามาซื้อได้บ้าง

3. คาดหวังเม็ดเงินจาก THAIESG ใหม่ ไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้น 6 – 7 หมื่นล้านบาท และหนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสดและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในพอร์ตช่วงเวลาที่เหลือของปี ในปีนี้สถาบันฯ ซื้อสุทธิหุ้นไทยน้อยมากเพียง 4.8
พันล้านบาท (YTD) เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีการถือเงินสดอยู่ในระดับหนึ่งและบางกองทุนถือเงินสดถึงเกือบ 10% 

ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะหนุนให้กองทุนเพิ่มเงินในพอร์ต สร้าง WINDOW DRESSING ช่วงกลางปี และยังรอรับเม็ดเงินจากกองทุน THAIESG เข้ามาสมทบเรื่อยๆ
ประเมินมีโอกาสใกล้เคียงกับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ที่ 6 – 7 หมื่นล้านบาทต่อปี และเม็ดเงินทุกๆ 1 หมื่นล้านบาท มักหนุนให้ SET ขยับขึ้นได้ 1 –2%

อย่างไรก็ตามที่กล่าวมา ฝ่ายวิจัยฯ คิดว่า กองทุน THAIESG ใหม่ พระเอกพลิกเกมส์หนุนตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงกับปริมาณเงินที่อาจลดลง หากมีการออกกองทุน THAIESG ประเภทตราสารหนี้ออกมามาก.