ดร.นิเวศน์ : " Mindset" ใหม่ของการลงทุน

30 มิ.ย. 2567 | 00:07 น.

การตกลงมาของตลาดหุ้นในยามนี้ "ดร.นิเวศน์" แนะนักลงทุนควรปรับ Mindset ใหม่ โดยยก 6 กรอบความคิด เป็นแนวทางการลงทุนให้ประสบความสำเร็จระยะยาว มีอะไรบ้างไปดูกัน

การตกลงมาของหุ้นที่เคยปรับตัวขึ้นไปสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในช่วงเร็ว ๆ นี้  ผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรจะต้องปรับ “Mindset” ในการลงทุนใหม่ถ้าหวังที่จะลงทุนแล้วประสบความสำเร็จในระยะยาวต่อจากนี้

คำว่า Mindset นั้น แปลง่าย ๆ  ก็คือ  กรอบความคิดหรือทัศนคติทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากสมองของเรา  ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการลงทุนของเรา  การลงทุนของเราจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับการที่เราจะมี Mindset ที่ถูกต้องในระยะยาวค่อนข้างมาก  บางทีอาจจะสำคัญยิ่งกว่าความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นด้วยซ้ำ  คำพูดที่ว่า  “เก่งแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามี Mindset หรือกรอบคิดในการลงทุนอย่างไร”  นั้น  ผมว่าเป็นเรื่องจริง

และต่อไปนี้ก็คือ Mindset ที่นักลงทุนควรจะสร้างขึ้นในใจและยึดถือเป็นหลักในการลงทุนเพื่อหวังผลระยะยาวถึงยาวมากตลอดชีวิต

ข้อแรกก็คือ ปรับความคิดใหม่เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น จากการเก็งกำไรระยะสั้น เป็นการลงทุนระยะยาวใน “บริษัท” ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าเป็นบริษัทที่ดี  สามารถขายสินค้าหรือบริการที่แข่งขันได้  หรือที่ยิ่งดีก็คือ  เหนือกว่าคู่แข่งเพราะมีความได้เปรียบทางธุรกิจที่ยั่งยืนไปอีกหลาย ๆ หรืออย่างน้อยสิบปีขึ้นไป  และหุ้นของบริษัทมีราคาถูกหรือยุติธรรม  มีผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์ต่อผู้ถือหุ้นทุกคน

ถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจของบริษัท  เราจะไม่ลงทุน  ไม่ว่าเราจะคิดว่าเดี๋ยวหุ้นจะขึ้นหรือไม่  ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้เราไม่ลงทุนในหุ้นจำนวนมากที่อาจจะกำลังร้อนแรงและเรามั่นใจว่าหุ้นจะวิ่งขึ้นไปแน่ในเวลาอันสั้น ว่าที่จริง  ถ้าเรามี  Mindset แบบนี้เต็มเปี่ยมจริง ๆ  เราก็อาจจะไม่จองซื้อแม้แต่หุ้น IPO ที่เราไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับบริษัทแต่มั่นใจว่าหุ้นจะวิ่งขึ้นแน่ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดขีด

ข้อสอง  Mindset ที่ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีมากในระดับปีละอย่างน้อย 20% ขึ้นไป  ถ้าเก่งก็จะทำได้ปีละ 40-50% แบบทบต้น  นี่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในสมองของคนที่เล่นหรือลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่ามีกูรูหรือ “เซียนหุ้น” ที่สามารถทำผลตอบแทนที่ดีเลิศผิดปกติมากในระดับดังกล่าวหรือมากกว่าได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเติบโตในระดับ  “ปีทองหรือทศวรรษทอง” และมีหุ้นจำนวนไม่น้อยที่กำลังเติบโตมากที่ถูกซื้อโดยกลุ่มคนดังกล่าวจนทำให้พวกเขา “รวยไปเลย” และข้อมูลนั้นถูกถ่ายทอดสู่สาธารณชนจนเกิดความคิดว่าผลตอบแทนระดับ 20% นั้นใคร ๆ  ก็ทำได้  ซึ่งเราก็มักจะเจอคอมเม้นต์ในเว็ปเกี่ยวกับหุ้นว่า  “ผมมักน้อยมาก  ขอผลตอบแทนปีละ 25% ก็พอแล้ว”

คงไม่ต้องพูดว่าคนที่คิดแบบนั้น  ตอนนี้แทบจะหมดตัวเพราะหุ้นที่เล่นนั้น  เป็นหุ้นเก็งกำไรสูงมากที่ตกลงมาแรงจนแทบเป็นหายนะ  Mindset ใหม่ที่ควรจะเป็นก็คือ  ตั้งผลตอบแทนการลงทุนประมาณไม่เกิน 10% ต่อปีแบบทบต้น หรือถ้าคิดว่าตนเองไม่ได้มีความสามารถพอในการเลือกหุ้นลงทุนก็ตั้งเป้าผลตอบแทนประมาณ 7-8% ต่อปีแบบทบต้น ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว  เพราะนี่คืออัตราผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นส่วนใหญ่รวมถึงตลาดหุ้นไทยในอดีต  การทำผลตอบแทนระยะยาวถึง 20% แบบทบต้นที่ไม่ใช่เพราะฟลุ๊กหรือโชคดีนั้น  คนที่ทำได้แบบมีข้อมูลที่ชัดเจนในโลกนี้จริง  ๆ  ก็ดูเหมือนว่าจะมีอยู่คนเดียว คือวอเร็น บัฟเฟตต์
 

ข้อสาม  ความคิดที่ยึดถือกันในหมู่ “นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นอาชีพ” เรื่องหนึ่งก็คือ การกู้เงินมาเล่นหุ้น ซึ่งรวมถึงการใช้มาร์จินที่กู้เงินได้หนึ่งเท่าตัวของเงินที่มีอยู่   เหตุผลก็คือ  ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ  อาจจะ “แค่ 5-6%” ต่อปี เซียนหุ้นทั้งแนวเก็งกำไรและ “VI” จำนวนมากต่างก็คิดว่าตนเองสามารถทำได้ปีละ 20% ขึ้นไปอยู่แล้ว ดังนั้น  การกู้เงินมาเล่นหุ้นก็จะช่วยเพิ่มกำไรหรือเพิ่มผลตอบแทนได้มาก  อาจจะเป็น “เกือบเท่าตัว” คือแทนที่จะได้ผลตอบแทน 20% ก็จะได้เป็น 40% ต่อปีแบบทบต้น

Mindset ใหม่ที่ควรจะเป็นก็คือ  เราจะไม่กู้เงินมาลงทุนเพราะเราเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือยาวมาก  การกู้เงินมาเล่นหุ้นนั้น  เวลาที่หุ้นตกลงมาใน “ระยะสั้น” มากพอ  เราอาจจะถูก “Forced Sale” หรือถูกโบรกเกอร์บังคับขาย  ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาต่อเนื่องและอาจจะทำให้เราต้องขายหุ้นที่ขาดทุนหนักในระดับ  “หายนะ” ได้ และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เพราะฉะนั้น  อย่าคิดว่าหุ้นเราดีและไม่น่าจะตกลงมามาก ๆ  ที่จะทำให้ถูกฟอร์ซเซลได้  หุ้นและตลาดหุ้นในบางครั้งก็เกิดอาการ “ตกใจ” ที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่า

กรอบความคิดเรื่องที่ 4 โดยเฉพาะของนักลงทุนรายย่อยก็คือ  “เล่นหุ้นตามเซียน” หรือตามรายใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก  พวกเขาเชื่อว่าหุ้นที่ “เซียนเข้า” โดยเฉพาะที่ปรากฎชื่อเป็น “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” นั้น “อย่างน้อยเขาคงเห็นอะไรดี ๆ  ที่เราไม่เห็น”หรือ “เซียนเข้ามาเล่นแล้ว”  ดังนั้น  เดี๋ยวหุ้นก็ต้องวิ่ง  “เราต้องรีบเข้าไปซื้อก่อน”  และ  ดังนั้น  ราคาหุ้นในวันรุ่งขึ้นก็มักจะวิ่งขึ้นไปอย่างแรง  ตาม “พลังของเซียน” ที่วัดจาก “เม็ดเงิน” และ “ผลงานในอดีต” 

คนที่เน้นเล่นหุ้นตามเซียนนั้น  ผมเองก็ไม่มีข้อมูลว่าที่ทำมามีกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหนในระยะยาว  แต่ถึงวันนี้ที่พบว่าเซียนบางคนก็แทบ “เอาตัวไม่รอด” ในยามที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ  ดังนั้น  คนที่เล่นหุ้นตามเซียนก็ไม่น่าจะได้อานิสงค์อะไร  ส่วนใหญ่น่าจะขาดทุนมากกว่า  ผมจึงคิดว่าในยามที่ตลาดหุ้นไทยคง “ไม่เป็นใจ” ไปอีกนาน  วิธีที่ดีกว่าก็คือ  ปรับ Mindset ว่า  “อย่าเล่นหุ้นตามเซียน” เพราะโอกาสสูงที่ว่าคุณจะถูกเซียน  “กิน”  มากกว่า เพราะเซียนอาจจะต้อง “เอาตัวรอด” ก่อน

กรอบความคิดที่ 5 ที่ผมคิดว่าควรจะต้องปรับใหม่ สำหรับนักลงทุนไทยหลังจากผ่านสถาณการณ์ “คอร์เนอร์แตก” ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ก็คือ  อย่าเล่นหุ้นที่ “แพงจัด” ที่วัดค่าจาก PE จากกำไรปกติที่สูงมากระดับ 30 เท่าขึ้นไป  ยิ่งสูงเท่าไรก็ต้องหลีกเลี่ยงมากขึ้นเท่านั้น  อย่าไปเชื่อว่าเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วระดับ 30% ต่อปี ขึ้นไปซึ่งจะทำให้เหมาะสมที่จะมีค่า PE 30 เท่าได้ 

ควรจะปรับ Mindset ว่า  ถ้าบริษัทไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่โตเร็วแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ใกล้อิ่มตัวและมีคู่แข่งและผู้เล่นมาก  ค่า PE ปกติไม่ควรจะเกิน 10-15 เท่า  บริษัทที่โตได้บ้างแต่ไม่มากนัก  มีความแข็งแกร่งพอประมาณ ค่า PE ไม่ควรเกิน 15-20 เท่า บริษัทที่ “ดีที่สุด” ในประเทศไทยควรมีค่า PE ไม่เกิน 20-30 เท่า  ยกเว้นว่าจะเป็นกรณีพิเศษที่มีเหตุผลว่าทำไมมันจึงควรแพงกว่านั้น  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ มี Mindset ที่จะไม่ซื้อหุ้นแพงไม่ว่าจะมี “สตอรี่” ดีแค่ไหน  เพราะสตอรี่ต่าง ๆ  นั้นมักจะ  “โม้ทั้งนั้น”

Mindset สุดท้ายที่ควรจะเป็นกรอบความคิดใหม่ของการลงทุน ก็คือ  ถ้าเราจะลงทุนระยะยาวไปเรื่อย ๆ  จนเกษียณหรือตาย  เราก็ควรจะเรียนรู้และฝึกฝน “ศาสตร์แห่งการลงทุน”  ที่เราจะใช้และยึดถือเป็นหลัก  อย่าลงทุน  “มั่ว ๆ” ตามสถานการณ์และไม่รู้ว่าตนเองเป็นนักลงทุนแนวไหนและมักลงทุนแบบใด  ประเภท  พอ “ติดหุ้น” ก็บอกว่าปรับเป็นการลงทุนแบบ “VI” คือถือยาว    บางคนบอกว่า  “ตอนนี้ยังไม่รวยก็เก็งกำไรไปก่อน  จะได้รวยเร็ว  พอมีเงินมากพอแล้วจะลงแบบ VI เพื่อกินปันผล”  เป็นต้น

ในฐานะที่ผมเป็น VI แบบ “เข้มข้น”  ผมก็คิดว่าศาสตร์ของ VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ดีที่นักลงทุนระยะยาวควรจะใช้เป็นหลัก  และถ้าเราเลือกที่จะมีสไตล์การลงทุนแบบ VI แล้ว  เราก็ควรจะยึดติดกับแนวทางนี้อย่างเคร่งครัด  นี่ไม่ใช่เรื่องว่าความคิดเราจะไม่ยืดหยุ่นและจะทำให้  “ปรับตัวไม่ได้”  เมื่อสถานการณ์ในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป

อย่าไปเชื่อเรื่อง  “VI ล้าสมัยแล้ว”หรือ  “ตามไม่ทันโลก”  เพราะหลักการ VI นั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลา  และนี่ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม วอเร็น บัฟเฟตต์จึงลงทุนในหุ้นแอ็ปเปิลเป็นตัวหลักทั้ง ๆ  ที่เขาอายุเกิน 90 ปี ไปแล้ว  และทำไมเบิร์กไชร์แฮทเธอร์เวย์จึงยังเติบโตมาตลอดหลายสิบปีโดยที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเอาชนะได้

ผมไม่ได้พูดว่าแนวความคิดการลงทุนแบบอื่น ๆ นั้นใช้ไม่ได้และไม่ควรยึดถือและปฏิบัติ  ประเด็นก็คือ  นักลงทุนแต่ละคนควรที่จะรู้ว่าตนเองมีสไตล์การลงทุนแบบไหนชัดเจน  เพราะนั่นจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้และฝึกฝนให้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำให้มี “แต้มต่อ” เมื่อเทียบกับนักลงทุนอื่น

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Jim Simons นักลงทุนที่ใช้โมเดล “คณิตศาสตร์” ในการเลือกหุ้นลงทุน  หรือที่เรียกว่าพวก  “Quant” ซึ่งเขาใช้มาต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งถึงวันตายเมื่อเดือนก่อนตอนอายุ 86 ปี  พร้อมกับความมั่งคั่งประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท รวยเป็นอันดับ 51 ของโลกที่เขาได้มาจากการลงทุนในฐานะผู้ก่อตั้งและบริหารเฮดจ์ฟันด์ Renaissance Technologies  ส่วนตัวเขาเองก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก  สถานะคล้าย ๆ  บัฟเฟตต์ในกลุ่มของนักลงทุนแบบ VI  อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ จิม ไซมอนทำนั้น  ดูเหมือนว่าจะสอนและเรียนรู้กันไม่ได้ง่าย