วิกฤตต้มยำกุ้ง สู่วิกฤตเชื่อมั่นหุ้นไทย ต่างชาติถล่มขายกว่า 1 ล้านล้านบาท

02 ก.ค. 2567 | 00:59 น.

โบรกฯ มองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน แม้จะห่างไกลจาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง" แต่จุดเปราะบางตลาดหุ้นไทย คือ วิกฤตความเชื่อมั่นของนักลงทุน เผยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ต่างชาติถล่มขายหุ้นไทยต่อเนื่อง รวมแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท

ครบรอบ 27 ปี "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในวันที่ 2 กรกฏาคมนี้  นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ได้ให้มุมมองสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยปัจจุบันว่า หากเทียบเคียงกับกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังมีความต่างกันมาก นั่นคือ  

1.ช่วงวิกฤตการเงินปี 40 เศรษฐกิจไทยมีภาพของการเก็งกำไร ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ดอกเบี้ย และค่าเงิน 2.เงินทุนสำรองในช่วงเวลานั้นค่อนข้างต่ำมาก ทำให้ง่ายต่อการโจมตีค่าเงิน และความผิดพลาดในครั้งนั้นยังเกิดจากการที่ทางการเปิดเสรีทางการเงิน โดยกำหนดค่าเงินคงที่ (ฟิตเรท) บริษัทเอกชนต่างแห่ไปกู้เงินต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่อประกาศลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน หนี้สินจึงเพิ่มหลายเท่าตัว เทียบเวลานี้ค่าเงินค่อนข้างนิ่ง  3.งบดุลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปัจจุบันมีความแข็งแกร่งกว่า ทั้งด้านสภาพคล่อง และหนี้สินยังต่ำกว่าในอดีตมาก 

 

สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด

"ที่สำคัญสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ถือว่าเติบโตช้า แรงเก็งกำไรไม่แรงขนาดเทียบปี 40  valuation ตลาดหุ้นเวลานี้ก็ไม่ได้สูง ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นตก จนทำให้หุ้นหลายตัวขาดสภาพคล่อง ถูก Forced Sell หรือถูกบังคับขายจากการใช้บัญชีมาร์จิ้น  ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ไม่ได้เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่เหมือนช่วงเวลานั้น จึงไม่มีผลมากพอที่จะทำให้ตลาดล้มครืนได้ " 

 

นายสิทธิชัย ให้ความเห็นต่อว่า "จุดเปราะบางของตลาดหุ้นไทยเวลานี้ คือความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน เริ่มจากรายย่อยที่ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะซื้อหุ้นไปก็ติดดอย และต่างชาติก็เข้ามาทำการชอร์ตเซล จึงทำให้คนไม่อยากเข้ามาลงทุน ทำให้เงินนักลงทุนในช่วงนี้ไม่ได้มาก เพราะส่วนหนึ่งก็ติดอยู่ในหุ้น ติดกับกองทุนที่ลง เป็นซีรีย์ตามๆกัน วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นวิกฤติความเชื่อมั่นมากกว่า "

อย่างไรก็ดี หากมีกระแสเงินใหม่เข้ามา ดัชนี SET ไปถึงระดับ 1400 จุด เชื่อว่านักลงทุนในประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่ มองว่าเงินทุนต่างชาติน่าจะไหลกลับเข้ามาในช่วงครึ่งหลังปีนี้  จากปัจจัยบวกทั้งแนวโน้มผลประกอบการตลาดที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าครึ่งหลังปี 67 จะเติบโตได้มากกว่า 20%  บวกกับความตึงเครียดทางการเมืองที่คลี่คลายลง และการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และลดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างตลาดที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด (ไต้หวัน, อินเดีย) และแย่ที่สุด (ไทย, อินโดนีเซีย) ในไตรมาสที่ 3  ทั้งนี้บล.อินโนเวสท์ เอกซ์  ประเมินเป้าหมาย SET Index สิ้นปีนี้ที่ 1,500 จุด
 

ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ASPS ได้ประมวลภาพเม็ดเงินไหลออกจากจากตลาดการเงินไทยในหลายช่องทาง พบว่าเป็นสถานะที่น่ากังวล รวม 1,223,742 ล้านบาท (รวม 11.5 ปี) เริ่มจากในส่วนของตลาดหุ้นไทย พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิช่วงปี 2556 ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2567  รวม 1,085,163 ล้านบาท ( เป็นยอดช่วงครึ่งแรกปี 67 ที่ 117,031 ล้านบาท ) และตราสารหนี้ไทย 138,579 ล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 1.5 ปี ( ปี 2566 - สิ้นเดือนมิ.ย.67 ) เม็ดเงินของต่างชาติไหลออกตลาดการเงิน 520,248 ล้านบาท แบ่งเป็นขายหุ้น 309,521 ล้านบาท และตราสารหนี้ไทย 210,727 ล้านบาท

 

วิกฤตต้มยำกุ้ง สู่วิกฤตเชื่อมั่นหุ้นไทย ต่างชาติถล่มขายกว่า 1 ล้านล้านบาท

ตัวเลขเม็ดเงินไหลออกดังกล่าว สะท้อนภาพความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้เม็ดเงินขับเคลื่อน SET INDEX หายไปในระดับหนึ่ง และกดดันจนล่าสุดลงมาอยู่ที่ระดับ 1300 จุด ซึ่งจำเป็นต้องเห็นมาตรการในการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมา อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นในภาวะดังกล่าวอาจทำให้การฟื้นตัวของ SET INDEX ช้าลง