"คิงส์ฟอร์ด" เปิดโพย 6 หุ้นเรตติ้ง ESG รับ 2 เด้ง ThaiESG - มาตรการคุมชอร์ตเซล

02 ก.ค. 2567 | 14:39 น.

บล.คิงส์ฟอร์ด ประเมินผลกระทบต่อหุ้นไทย กรณีปรับเกณฑ์ "TESG" เทียบกอง LTF มองหุ้นที่มีเรตติ้ง ESG ที่ AAA มีสถานะ Short Sell สูง แต่ยังมี PE ที่ต่ำกว่าตลาด ชู 6 หุ้นเด่น PTTEP, KBANK, OR, TOP, KTC, TISCO คาดจะได้ประโยชน์จาการปรับเงื่อนไข TESG และ มาตรการควบคุมธุรกรรม Short Sell

จากการที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีออกมามีมาตรการ ปรับเงื่อนไข การลงทุน กองทุน Thai ESG โดยขยายวงเงินที่นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งปรับลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ จากเดิม 8 ปี คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยให้มีผลย้อนหลังการลงทุนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น 

โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวม เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท เท่ากับว่าเราจะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจาก Thai ESG ไปเลย 300,000 บาท
 

โดยจาการประเมินคาดว่า กองทุน Thai ESG จะมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 3 - 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเปรียบเทียบตลาดหุ้นในช่วงที่มีกองทุน LTF ซึ่งหมดอายุไปเมื่อ 2020 โดยก่อน LTF หมดสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ตอนนั้นมีเม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบสูงถึง 4.06 แสนล้านบาท ค่อยๆ ถอนออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 1.59 แสนล้านบาท กดดันตลาด และล่าสุด เม.ย. 67 เหลือมูลค่าคงค้าง LTF อยู่ 2.47 แสนล้านบาท ที่ยังเป็นตัวพยุงตลาดหุ้นไทย ซึ่งต้องคาดหวังว่า กองทุน Thai ESG จะมีมูลค่ากองทุนเติบโตขึ้น 3 - 4 หมื่นล้าน ในทุกปี จึงจะมีผลต่อตลาดหุ้นใกล้เคียงกับ LTF ซึ่งเป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องผลักดันให้มีหุ้นที่ติดเรทติ้ง Thai ESG เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้กองทุน Thai ESG มีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อผลตอบแทนของกองทุนด้วย  โดยคาดการณ์ว่า เงินลงทุนทุก 1 หมื่นล้านบาทจะช่วยดันตลาดหุ้นได้ 15 - 20 จุด โดยเทียบจากผลการศึกษาของกระทรวงการคลังที่พบว่า เงินลงทุนใน LTF ทุก 1 หมื่นล้าน จะส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย 25 - 27 จุด

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณานำกองทุนวายุภักษ์กลับมา เพื่อเป็นการลงทุนเพื่อเสริมสร้างกลไกการออม การลงทุนให้กับประชาชนผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมของภาครัฐ และการมีโครงสร้างผลตอบที่มีขั้นต่ำ ขั้นสูง การกำหนดลำดับของสิทธิการได้รับผลตอบแทนที่จะรองรับกลุ่มของผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน  โดยได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษา ละเอียด 1 เดือน คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนมาตราการ ป้องกันการ Short Sell  ตลาดได้มีมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน 4 ข้อ ดังนี้

  • 1. กำหนดเกณฑ์หุ้นที่จะ SHORT SELLING (มีผล 21 มิ.ย. 67)
  • 2. มี UPTICK RULE ในทุกบริษัท (มีผล 1 ก.ค.67)
  • 3. ลงทะเบียน HIGH-FREQUENCY TRADING (1 ก.ค. 67)
  • 4. เปิดเผยผู้ส่งคำสั่งไม่เหมาะสม (1 ก.ค. 67)

โดยมาตราการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตราการเน้นลดความผันผวนของตลาดหุ้น  หากเทียบกับ การแบนธุรกรรม Short Sell ของเกาหลีใต้ ที่พบว่า ในวันเทรดครั้งแรกของ 1 วันหลังประกาศการแบน(ประกาศวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.66 เทรดวันแรกวันจันทร์ที่ 06 พ.ย.66) ดัชนี KOSPI มีการปรับตัว +6%  และในช่วงเวลา 03 พ.ย.- 31 ธ.ค. 66 +12% หากพิจารณาถึงชุดข้อมูล 38 แท่งก่อนและหลังการแบนจะพบว่า Volume การซื้อขายในช่วง 6 พ.ย.66 - 28 ธ.ค.66 จะน้อยกว่าในช่วง 6 ก.ย.66-3 พ.ย.66 ราว -7% ดังนั้นมาตราของไทยจะแตกต่างกันซึ่งอาจจะมีผลให้หุ้นที่มีการ Short Sell สูง ปรับสถานะใหม่มีความเหมาะสมมากขึ้น เป็นผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นได้

ทั้งนี้หุ้นที่มีเรตติ้ง ESG ที่ AAA มีสถานะ Short Sell สูง แต่ยังมี PE ที่ต่ำกว่าตลาด (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2567) มีดังนี้ PTTEP, KBANK, OR, TOP, KTC, TISCO เป็นกลุ่มคาดจะได้ประโยชน์จาการปรับเงื่อนไข TESG และ มาตราการควบคุมธุรกรรม Short Sell