ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร EA เข้าข่ายผิดมาตรา 311

12 ก.ค. 2567 | 23:25 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2567 | 01:25 น.

ก.ล.ต. กล่าวโทษ "สมโภชน์ อาหุนัย -อมร ทรัพย์ทวีกุล"กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีกระทำผิดเข้าข่ายมาตรา 311

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556 –2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท 
 

การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

ก.ล.ต.แจ้งเพิ่มเติมว่า การกระทำความผิดของบุคคลทั้ง 3 เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ และการถูกกล่าวโทษในกรณีนี้ มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560

ปัจจุบัน นายสมโภชน์ อาหุนัย ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท (กรรมการผู้มีอำนาจ ลงนามผูกพันบริษัท), รองประธานกรรมการบริษัท ,ประธานกรรมการกลยุทธ์องค์กร , กรรมการบริหารความเสี่ยง ,ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

ขณะที่ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท), กรรมการบริหารความเสี่ยง, กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน, กรรมการกลยุทธ์องค์กร, กรรมการบริหาร, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมคุณภาพ