ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโดน “ทุนจีน” ทะลักเข้ามาทุกช่องทาง (1)

10 ส.ค. 2567 | 21:40 น.

ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโดน “ทุนจีน” ทะลักเข้ามาทุกช่องทาง (1) : ผู้นำวิสัยทัศน์ กมลธิดา พรรณพิพัฒน์ Corp communication: IPG Mediabrands

จากคู่ค้าสู่คู่แข่ง จากเกื้อหนุนเป็นกลืนกิน ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไรเมื่อโดนทุนจีนทะลักเข้ามาทุกช่องทาง

ตอนนี้หันไปทางไหนก็มีแต่สินค้าจีนรอบตัวไปหมดจนรู้สึกชินตา ทั้งราคาที่ถูกและหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งกระแส Art Toys ที่ Labubu มาสร้างไวรัลที่ทำให้คนไทยพากันตามหาจับจองมาเป็นเจ้าของ ทำให้ Pop mart ร้านขายของสระสมจากประเทศจีน กลายเป็นกระแสและโด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างทั่วถึงในประเทศไทย

ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโดน “ทุนจีน” ทะลักเข้ามาทุกช่องทาง (1)

โดยตอนนี้สินค้าของจีนสามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งช่องทาง online และ offline ทำให้ไม่ยากเลยที่สินค้าจากจีนจะเป็นตัวเลือกแรกๆของกลุ่มผู้บริโภค อีกทั้งยังมีธุรกิจของจีนที่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจเจ้าถิ่น

จุดที่สินค้าของจีนเริ่มทะลักออกมายังตลาดของโลกมาที่จีนวางตัวเองให้เป็น ‘โรงงานของโลก’ กำลังการผลิตสูง ต้นทุนต่ำ และมีความสามารถในการขนส่งสินค้าได้ทั่วโลก จากโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เส้นทางบก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านทางเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก และเส้นทางทะเลที่จะเชื่อมจีนกับยุโรป ผ่านเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา

ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโดน “ทุนจีน” ทะลักเข้ามาทุกช่องทาง (1)

นอกจากสองเส้นทางการเชื่อมต่อหลักนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และอีกหนึ่งนโยบายที่บีบให้นักธุรกิจของจีนเริ่มกระจายออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นคือ ‘เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ หรือ Common Prosperity เพื่อกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนทุกคนพร้อมๆกัน เพื่อไม่ให้มีการรวยกระจุกอยู่ที่กลุ่มของนายทุน

โดยผู้ที่มีรายได้เยอะจะโดนตรวจสอบมากขึ้นและต้องตอบแทนสังคมมากขึ้น ทำให้นักลงทุนและเศรษฐีของประเทศจีนมองหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าที่ดูจะเหมาะและเป็นตัวเลือกที่ดีของธุรกิจจากประเทศจีนเลยทีเดียว

สิ่งที่ทำให้ประเทศไทย เป็นหมุดหมายของประเทศจีนคือ

1. สิทธิ์ในการซื้อคอนโดมิเนียมแบบถือครองกรรมสิทธิ์แบบเช่า (leasehold) โดยมีอัตราการให้เช่าสูงสุดตามกฎหมายในประเทศไทยคือ 30 ปี และมีการศึกษาต่อและทบทวนนโยบายว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลาถึง 99 ปี

2. มาตรการ “ฟรีวีซ่าไทย-จีน” หรือการยกเว้นตรวจลงตราระหว่างกันอย่างถาวร

3. มีนโยบายส่งเสริมจาก BOI (Board of Investment) ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ

4. ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) หรือ FTA ระหว่าง ไทย-จีน โดยยกเลิกภาษีระหว่างกันก่อน (Early Harvest) และลดภาษีในการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ