ก.ล.ต.เกาะติด WARRIX เปลี่ยนผู้ถือหุ้น หากพบทำผิดงัดกฎหมายฟันทันที

26 ส.ค. 2567 | 09:31 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2567 | 04:35 น.

ก.ล.ต.ตามติดการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น WARRIX เผยอยู่ระหว่างรอบริษัทรายงานข้อมูล หากพบมีการกระทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ พร้อมลุยจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ด้าน "วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล" แจงบอกล้างโมฆียกรรมการยืมเงินแล้ว อยู่ระหว่างการฟ้องร้องติดตามหุ้นที่หายไป

จากประเด็นที่ทางบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ได้มีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ได้ทำการจำหน่ายหุ้นของ WARRIX ให้แก่บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด จำนวน 14,942,530 หุ้น หรือคิดเป็น 2.49% ของหุ้นที่จำหน่ายแลัวของบริษัท

และหลังจากนั้น นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ได้มีการตรวจสอบพบว่า จำนวนหุ้นที่นำไปจำนำเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้โดยการฝากในฐานะเป็นหลักประกันไว้กับคัสโตเดียน มีหุ้นหายไป 15,000,000 หุ้น โดยที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระเงินกู้ จากนั้น นายวิศัลย์ จึงได้ดำเนินการบอกล้างโมฆียกรรมการกู้ยิมเงินดังกล่าว และอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อติดตามหุ้นที่หายไปดังกล่าว
 

โดยที่คัสโตเดียนต้องส่งมอบหุ้นที่ฝากไว้เป็นหลักประกันคืนทั้งหมด สำหรับจำนวนหุ้นที่ยังเหลืออยู่ในความครอบครองของคัสโตเดียน จำนวน 105,211,000 หุ้น นายวิศัลย์ ได้ขอคำสั่งศาลอายัดหุ้นดังกล่าวไว้ ทำให้ในตอนนี้คัสโตเดียนและตัวแทนของคัสโตเดียนจึงถูกห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ โครงสร้างการถือหุ้นรายใหญ่ของ WARRIX ก่อนที่ นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ทำรายการ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 53.64% หรือจำนวน 321,830,000 หุ้น โดยภายหลังทำรายการไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 31.11% หรือจำนวน 186,676,470 หุ้น

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากตรวจสอบและติดตามกรณีผู้ถือหุ้นลำดับแรก ของ บมจ.วอริกซ์ สปอร์ต หุ้นหายไปดังกล่าว ซึ่งทาง ก.ล.ต. ได้ทำงานร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  โดยให้ทางศูนย์ซื้อขาย (TSD) ไปตรวจตามที่ผู้บริหารได้แจ้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

โดยหลังจากที่ทาง ก.ล.ต.ได้ติดตามการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น พบว่า กรณี WARRIX นี้ เป็นธุรกรรมการนำหุ้นไปจำนำที่เกิดขึ้นนอกตลาด โดยมีคู่สัญญาและเกิดข้อพิพาท ระหว่างเอกชนกับเอกชน ในกรณีเช่นนี้ เอกชนต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเอง แล้วเมื่อมีความคืบหน้าอะไรจึงนำเรื่องมารายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. 

"สำหรับการเปลี่ยนมือของหุ้นดังกล่าวผู้ถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นผู้บริหารมีหน้าที่รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ"

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อยู่ระหว่างรอบริษัทรายงานข้อมูลให้ครบถ้วน หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทางก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายทันที และยืนยันว่า กรณีนี้ ก.ล.ต. มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบและนักลงทุนรายย่อย

"การนำหุ้นไปกู้ยืมนอกตลาด ยังไม่เกิดการครอบครองและไม่ต้องรายงานข้อมูลตามมาตรา 59  ยังถือเป็นช่องโหว่ ขณะนี้  ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการศึกษาและวางกลไกที่ทำให้มีการเปิดเผยรายงานข้อมูลส่วนนี้ได้ และสร้างความโปร่งให้กับนักลงทุนครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความเห็นของนักลงทุนต่อไป"นางพรอนงค์ กล่าว