นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทปรับกลยุทธ์การขยายสินเชื่อในปีนี้ใหม่ โดยอาจจะขยายตัวในกรอบ 10-15% จากเดิมเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่วางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10-12%
และบริษัทเน้นรักษาคุณภาพสินทรัพย์ และ การรักษาหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อทำให้ภายในสิ้นปี 2567 นี้ จะคุม NPL ไม่ให้เกินระดับ 2% จากสิ้นไตรมาส 2/2567 ที่ทำได้ 1.8% ด้วยการควบคุมการอนุมัตสินเชื่อ รวมไปถึงบริษัทได้ทำการตัดหนี้สูญ (write-off) เพิ่มอีกทางหนึ่ง
ปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ คือ นโยบายจากทางภาครัฐ เพราะจะเกิดการกระตุ้นเพื่อทำให้ GDP มีการเติบโต ตลอดจนเพดานดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำทำให้มีปัญหาทางด้านต้นทุน แม้บริษัทจะควบคุมแล้วก็ตาม ประกอบกับการจัดทำข้อมูลให้มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อทำให้บริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท ถือเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถแล้ว บริษัทยังคงมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจนายหน้าประกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันได้เพิ่มขึ้น จึงได้บุกเบิกธุรกิจในรูปแบบบริการผ่อนเบี้ยประกันรถยนต์ด้วยเงินสด 0%
ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทมีสัดส่วนธุรกรรมจากลูกค้าที่ซื้อประกันสูงกว่าการขอสินเชื่อ 3 เท่า และ 9 ใน 10 ของกรมธรรม์ที่ขาย เป็นการขายให้แก่ลูกค้าที่เจาะจงเข้ามาซื้อประกันโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับลูกค้าสินเชื่อ สะท้อนถึงความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 47.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจประกันวินาศภัยที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 4.5% ต่อปี หรือ เปรียบได้ว่า ภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดถึง 10 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย อยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้รวม โดยปี 2568 หรือปี 2569 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มให้เป็นไม่น้อยกว่า 20% หากทำได้ โดยในปี 2567 นี้ บริษัทคาดหวังเบี้ยประกันเติบโต 20% หรือ แตะ 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 8,700 ล้านบาท
นางอาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหาร ด้านธุรกิจประกันภัย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมียอดเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่า 4,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลมาจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีช่องทางการขายและให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งในรูปแบบ Face to Face ผ่านช่องทางสาขาเงินติดล้อทั่วประเทศ
ที่ได้นำมาผสมผสานเข้ากับการใช้เทคโนโลยีด้านนายหน้าประกันภัย (InsurTech Platform) ซึ่งบริษัทฯ ได้สร้าง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีด้านประกัน มามากกว่า 10 ปี ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันได้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ดังนี้
ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เฮ้กู๊ดดี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่า 2 ล้านคน และ จากข้อมูลเชิงลึกพบว่าลูกค้ามากกว่า 40% ซื้อประกันในช่วงนอกเวลาทำการ และ ผลการสำรวจความพึงพอใจพบว่า ลูกค้ามากกว่า 96% พึงพอใจในการเข้ามาใช้บริการ
นายปิยะศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันในประเทศไทย มีสัดส่วนการซื้อประกันผ่านช่องทางนายหน้าสูงถึง 73% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ และยังมีจำนวนนายหน้าประกันอิสระในประเทศไทยมากกว่า 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายหน้ารูปแบบดั้งเดิมที่อาจมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี
ในขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยมียอดเบี้ยประกันรวมในตลาด มูลค่ากว่า 285,000 ล้านบาท แต่บริษัทนายหน้าประกันเจ้าหลัก 10 อันดับแรก มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันเพียง 29% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนายหน้าประกันยังไม่มีผู้ครอบครองหลัก จึงมองเป็นโอกาสที่จะเข้าไปขยายตลาดนายหน้าประกันได้อีกมาก
ประกอบกับจากการสำรวจข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนในประเทศไทย พบว่า มีจำนวน 19.8 ล้านคัน แต่มากกว่า 40.6% ที่ยังไม่ได้ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของตลาดได้อีกมากในอนาคต โดยจุดแข็งของบริษัท คือ มีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ "บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)" ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนเพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มบริษัท โดยภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการจะสามารถลดความสับสนของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผล โดยจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายเงินปันผลในรูปแบบเงินสด รวมถึงการลดความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้น และกำไรต่อหุ้น
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจในหน้าประกันวินาศภัย ในรูปแบบ InsurTech Platform ในอนาคต โดยบริษัทจะทำการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ได้แก่ แบรนด์ อารีเกเตอร์ และ แบรนด์ เฮ้กู๊ดดี้ รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทใหม่ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งหลังจากการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ในสัดส่วน 99.99% โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ เพื่อให้มีการแบ่งแยกการกำกับดูแล และการบริหารและจำกัดความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยสถานะของการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holdind Company ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ โดยคาดว่า ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 ในช่วงไตรมาส 4/2567 และ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกินปลายปี 2567 เช่นเดียวกัน
"หลังจากการเปลี่ยนเป็น ติดล้อ โฮลดิ้งส์ แล้ว เรายังมั่นใจว่าผลการดำเนินงานยังคงทำได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 68 และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเข้ามาเสริม ทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัทลดลง ในขณะเดียวกันก็ยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระดับที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สม่ำเสมอ จากการที่สามารถเพิ่มความยืดหยุนในการจ่ายปันผลเป็นเงินสดได้มากขึ้น"นายปิยะศักดิ์ กล่าว
อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรผ่านการควบรวมกิจการ หรือ การร่วมลงทุน ที่จะช่วยการสนับสนุนการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะการมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ อาทิ ในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการขยายธุรกิจของบริษัทที่ต้องการมุ่งไป แต่ยังอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนที่ดีเข้ามา หรือหากมีความร่วมมือกับกลุ่ม MUFG หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และ ทั่วภูมิภาค ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การเข้าไปรุกเจาะตลาดในอาเซียนนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นในตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งคาดว่ามีโอกาสได้เห็นในระยะ 3-5 ปีต่อจากนี้ไป