PTT-SCB ติดเส้นลิมิตกองทุนเดิม ชวดเข้าพอร์ตกองทุนวายุภักษ์

13 ก.ย. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 07:46 น.

นับถอยหลังกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง เปิดให้รายย่อยในประเทศจองซื้อวันที่ 16-20 ก.ย.67 นี้ โบรกมองยังมีโอกาสวายุภักษ์ลงทุน TTB-KTB ต่อ การถือหุ้นจากกองเดิมสัดส่วนไม่สูง ในทางกลับกัน PTT-SCB มีแววหมดสิทธิ์ได้ไปต่อ

นับถอยหลังกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ที่จะเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศจองซื้อระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย.67 นี้ ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท  

กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง มีหน่วยลงทุน 2 ประเกทคือ หน่วยลงทุนประเภท ก. สำหรับนักลงทุนทั่วไป และหน่วยลงทุนประเภท ข.สำหรับกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ โดยหน่วยลงทุนที่จะดำเนินการเสนอขายในครั้งนี้คือ หน่วยลงทุนประเภท ก. มูลค่ารวม 1-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี

จากการตรวจสอบข้อมูลกองทุนวายุภักษ์หนึ่งเดิม (VAYU1) พบว่า สัดส่วนสินทรัพย์ของกองทุน ณ สิ้นเดือนก.ค. 2567 ประกอบด้วย หุ้น 88.49% พันธบัตรรัฐบาล 7.79% เงินฝากธนาคาร P/N และ B/E 2.45% หุ้นกู้ 0.72% หน่วยลงทุน 0.53% และใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.02% เป็นต้น

โดยสินทรัพย์ 5 อันดับแรกของกองทุน ได้แก่

  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ 35.07%
  • บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ 25.03%
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ 5.54%
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ 3.36%
  • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP มีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ 3.03%

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัดเปิดเผยว่า การลงทุนของกองทุนวายุภักษ์จะสามารถกลับเข้ามาลงทุนในหน้าหุ้นเดิมได้หรือไม่ คงต้องไปดูที่กฎระเบียบของกองทุนฯว่า จะสามารถลงทุนในหลักทรัพย์หนึ่ง หรือกองทุนหนึ่งใดได้ มีเกณฑ์อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม มองว่า การที่กองทุนฯ จะเข้าไปถือหุ้นเดิมที่เคยลงทุนอยู่แล้วอย่าง TTB และ KTB นั้น มองว่า ยังคงทำได้ และไม่น่าเป็นกังวลเท่ากับ PTT และ SCB เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลการลงทุนจะพบว่าหุ้น 2 อันดับแรกที่กองทุนวายุภักษ์หนึ่งถือสัดส่วนสูงสุด คือ PTT และ SCB

"คาดว่า ด้วยจำนวนการถือครองหุ้นที่สูงนั้น จะใกล้เคียงกับเกณฑ์ Single Limit และ Group Limit ทำให้คาดว่าจะไม่สามารถเข้าไปลงทุนในหน้าหุ้นดังกล่าวได้อีก"

กรณีหุ้น TTB และ KTB ที่ยังไม่ใกล้เคียงกับ Trigger Limit ทำให้ Condition หลักทรัพย์ที่อยู่ใน SET100 ที่มีคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า ก็เข้าข่ายที่จะซื้อได้ เช่นเดียวกันกับ BCG ที่เข้าข่ายผู้จัดการกองทุนแปลน้ำหนักลงทุนเพิ่มได้

"ตามหลักแล้ว หากกองทุนวายุภักษ์ ยังสนใจที่จะลงทุนหุ้น TTB และ KTB ยังคงทำได้ เพราะสัดส่วนการถือหุ้นในกองทุนก่อนนั้นยังมีน้อยกว่าและยังไม่เข้าเกณฑ์  Single Limit และ Group Limit เพียงแต่จะซื้อลงทุนมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ส่วนการใส่เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น หนุนราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ราคาอิง NAV ของกองทุนก็เพิ่ม และไม่น่าเกิดการ Dilution Effect ต่อราคาหุ้นหรือผลตอบแทนแต่อย่างใด"

 

ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เผยก่อนหน้านี้ว่า กองทุนรวมวายุภักษ์เดิม ถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ค.2546 โดยเป็นกองทุนรวมปิดมีขนาด 100,000 ล้านบาท

ปัจจุบันได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ย.2567 กองทุนฯ มีมูลค่า NAV ราว 353,596 ล้านบาทและปัจจุบันพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.

นับจากปี 2557-2566 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์เฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ย 3.75% ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อีกทั้งกองทุนฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 มีกำไรสะสมกว่า 142,739 ล้านบาท

"คาดการณ์ว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จะเริ่มลงทุนได้ภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 หลังปิดการเสนอจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันแล้ว"

สำหรับแผนการลงทุนนั้น ต้องดูจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม โดยอาจเป็นการเลือกทยอยเข้าลงทุนแทนการซื้อก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว เพราะมีเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่หลัก 1-1.5 แสนล้านบาท

โดยกองทุนฯมีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง หรือมีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีร่วมด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ได้แก่

  • บริหารหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่ให้เต้กิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืงในระยะยาว และมั่นคง
  • ลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ และต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ
  • ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และ เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน

ด้านนโยบายการลงทุน ประกอบด้วย

  • กองทุนรวม มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และ แบบเชิงรับ (Passive Investment) โดยจะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก
  • เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตัวอย่าง เช่น บริษัทใน SET100 ที่ได้รับคะแบน SET ESG Ratings ระดับ AA ขึ้นไป เป็นต้น

ขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผล แบ่งออกเป็น

  • ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตามอัตราผลตอบแทน ที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม 
  • อัตราผลตอบแทน จ่ายรูปแบบเงินปันผลดามจริง กำหนดไว้ที่ 3.0% ต่อปีโดยเป็นป็นอัตราคงที่ (Fixed rate) ตลอดระยะเวลาการลงทุนเมืองต้น 10 ปี และ อัตราผลอบแทนขั้นสูง กำหนดไว้ที่ 9.0% ต่อปีโดยเป็นอัดราคงที่ (Frixed rate) ตลอดระยะ เวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี

การขายหน่วยลงทุน รวม 8 ราย ดังนี้

  1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 
  2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 
  3. ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) 
  4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 
  6. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 
  7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
  8. ธนาคารออมสิน

โดยจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน