CHASE ชี้ 4 เดือนสุดท้ายแบงก์เร่งขาย NPL หลักแสนล้าน กำงบ 600 ล้านลุยซื้อหนี้

13 ก.ย. 2567 | 05:55 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 05:55 น.

CHASE เผย 4 เดือนสุดท้ายของปี 67 เข้าไฮซีซันธุรกิจ สถาบันการเงินเร่งปล่อยมูลหนี้ด้อยคุณภาพใหม่ออกสู่ตลาด มูลค่าหลักแสนล้านบาท อวดเตรียมงบราว 600 ล้านเตรียมจัดซื้อหนี้ใหม่เติมพอร์ต มั่นใจพอร์ตมูลหนี้คงค้างปีนี้โต 2 หลัก

นางสาววรลักษณ์ ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คาดว่าสถาบันการเงินมีแนวโน้มเร่งปล่อยหนี้ด้อยคุณภาพออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามไฮซีซันธุรกิจ

ในปัจจุบันมีการจัดทําข้อกำหนดและขอบเขตการจ้าง (TOR) ที่ทยอยออกมาบ้างแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมออกใหม่เพิ่มเติม รวมแล้วมูลค่าหลักแสนล้านบาท เบื้องต้นบริษัทได้มีการยื่นซองเสนอราคาไปบ้างแล้ว อยู่ในช่วงรอการทยอยประกาศผลในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อไป

โดยในปี 2567 บริษัทจัดเตรียมงบประมาณรองรับการจัดซื้อหนี้ด้อยมูลค่าใหม่เค้ามาเติมพอร์ตที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค.นี้ บริษัทสามารถจัดซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่มโดยใช่เงินลงทุนไปแล้วทั้งสิ้นราว 434 ล้านบาท

ทำให้มูลค่าพอร์ตหนี้คงค้างในขณะนี้อยู่ที่กว่า 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึง 18% ทั้งปีก็พยายามรักษาอัตราการเติบโตของพอร์ตคงค้างไว้ระดับตัวเลข 2 หลัก

และยังคงหลงเหลืองบประมาณรองรับการซื้อมูลหนี้ใหม่อีกประมาณ 566 ล้านบาท ทั้งนี้ การซื้อหนี้ด้อยมูลค่าใหม่มาเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้นั้น บริษัทจะมุ่งเน้นไปยังมูลหนี้หลักพันล้านบาท โดยอาจมีการตัดกรองข้อมูลและความเหมาะสมของมูลหนี้ก้อนใหม่ รวมถึงความหลากหลายของประเภทมูลหนี้ เพื่อรักษาสมดุลในกระบวนการจัดเก็บยอดชำระ (Cash Collection)

สัดส่วนพอร์ตมูลหนี้คงค้างในปัจจุบันแบ่งออกเป็น หนี้ที่ไม่มีหลักประกันกว่า 95-96% ที่เหลือเป็นสัดส่วนของหนี้ที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดี มองว่าด้วยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นสัญญาณที่ทำให้มีโอกาสที่สถาบันการเงินจะเร่งปล่อยหนี้เสียออกมาอีกจำนวนมาก แต่บริษัทอาจไม่ได้เร่งซื้อมาทั้งหมด และจะเลือกตามความเหมาะสม

ซึ่งบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้เงินลงทุนให้หมดตามที่จัดเตรียมไว้ และแม้ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจไม่ได้มูลหนี้ด้อยมูลค่าเข้ามาเติมพอร์ตได้เพิ่ม ก็ไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน เพราะบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการพอร์ตมูลหนี้เดิมให้มีคุณภาพ และยังสามารถสร้างอัตรากำไรให้บริษัทได้ในระดับที่เหมาะสมอยู่ต่อไป

"ต้องยอมรับว่าด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก รากหญ้าเองก็ลำบากกันมาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เชื่อว่าไม่มีใครที่อยากเป็นหนี้แน่นอน สิ่งที่เราทำได้คือการเข้าไปช่วยเหลือ ไปให้ข้อมูล ช่วยเค้าปรับโครงสร้างหนี้ เข้าไปแนะนำแนวทางช่วงวางแผนการชำระหนี้ เรียงลำดับตามความสำคัญของลูกหนี้แต่ละรายก่อน อันไหนต้องจ่ายก่อนหลัง เราเองก็ไม่หวังว่าลูกหนี้เราจะต้องถูกยึดบ้านหรือรถ และไม่ได้อยากให้ลูกหนี้ต้องไปสู่กระบวนการสุดท้ายในชั้นศาล"

ในส่วนของ Cash Collection ต้องยอมรัยว่าในปี 2567 ยังคงมีความท้าทายอยู่มาก ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้ในการเรียกจัดเก็บ หรือการเร่งรัดติดตามหนี้ทำได้ยากขึ้น แต่บริษัทก็วางแผนรับมือให้ทันต่อสถานการณ์และมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะในการนำเอาข้อมูลของลูกหนี้มาวิเคราะห์ และการเข้าไปพูดคุยให้ข้อมูลกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่แผนการลงทุนในการขยายธุรกิจนั้น ปัจจุบันบริษัทยังคงเปิดโอกาสกว้างในการศึกษาการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการร่วมลงทุน (JV) และอื่นๆ ที่ผ่านมาก็มีเข้ามาก็มีทั้งสถาบันการเงินและนอกเหนือสถาบันการเงินในประเทศเข้ามาพูดคุยอยู่ตลอด เพียงแต่บางรายเงื่อนไขอาจไม่ตรงกัน ทำให้ดีลใหม่จึงยังไม่เกิด การร่วมลงทุนก็เหมือนการคบหต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตดลงกันลงตัวในทันที