KBANK คงจีดีพีปี 67 ที่ 2.6% เลือกตั้งสหรัฐฯก่อเทรดวอร์ครั้งใหม่

20 ก.ย. 2567 | 09:53 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 09:56 น.

KBANK ชี้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยโตสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก แนะติดตามผลกระทบน้ำท่วมและเศรษฐกิจหลักชะลอตัว พร้อมคงเป้าจีดีพีปี 67 ที่ระดับ 2.6% ขณะที่ต่างประเทศ คาดการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจมีผลต่อทิศทางสงครามการค้าระลอกใหม่

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และยังได้ส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569

ทำให้มองว่าเป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่วนทางเศรษฐกิจจีน มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 นี้ จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนียังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องจับตา คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกได้สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยโอกาสในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ส่วนความเสี่ยงเกิดจากผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันการค้าโลก และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 

โดยหากเกิด Trade War 2.0 ที่สหรัฐฯ อาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และ การนำเข้าจากที่อื่นๆ เป็น 10-20% น่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยังไม่โดนเก็บภาษีจาก Trade War 1.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง (Labor-Intensive) และ ไทยอาจได้ผลบวกไม่มากนัก

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่ล้นเกิน เพราะยากจะหวังพึ่งการส่งออก และตลาดในประเทศคงไม่โตได้มากเท่าที่คาด 

เบื้องต้นประเมินน้ำท่วมภาคเหลือ และอีสาน จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการผลิตมากขึ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท และหากเกิดน้ำท่วมรุนแรงในภาคกลาง และใต้ ก็อาจทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 30,000 ล้านบาท แม้เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว โรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจ

"จากประเด็นน้ำท่วมนั้น สิ่งที่อยากเสนอแนะรัฐบาลมากที่สุด คือ อยากให้ภาครัฐสร้างระบบการเตือนภัย ที่เข้าถึงกับชุมชน เข้าใจง่าย ให้กับประชาชน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะได้รับมืออย่างรวดเร็ว"นางสาวเกวลิน กล่าว

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในระหว่างที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำยังได้รับแรงหนุน

ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนควรตระหนักว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และควรกระจายความเสี่ยงของพอร์ตให้ดีด้วย

ทิศทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังปีนี้จะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานของการส่งออกและการลงทุน และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ส่วนด้านอุตสาหกรรมไทยมองว่า จะยังอยู่ท่ามกลางปัญหาจาก 4 เรื่องหลักในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่

  1. น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและ ภาคใต้
  2. บาทผันผวนสูง
  3. การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ
  4. ต้นทุนเพิ่ม โดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ

ซึ่งทั้ง 4 เรื่องกระทบเกษตร การผลิต และ บริการ หลักๆ คือ SMEs สำหรับภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว

ขณะที่ภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง 

"สินเชื่อรวมของแบงก์ปีนี้ที่เติบโต 1.5% คิดเป็น 0.5-0.6% ของจีดีพี โดยถือว่าต่ำมาก จากปกติจะคิดเป็น 1-1.5% ของจีดีพี สะท้อนได้ว่า หนี้ครัวเรือนที่สูง โดยเฉพาะที่มาจากสินเชื่อบ้าน และ สินเชื่อรถ ซึ่งปีนี้คาดว่า สินเชื่อบ้านจะเติบโต 1.2% และ สินเชื่อเช่าซื้อหดตัว -5.5%"นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว

ทางด้านผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ 

ในขณะที่ผลสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากนี้มองว่าการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย