นับเวลาถอยหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 เริ่มเข้มข้นเข้ามาทุกขณะ ซึ่งแน่นอนว่านโยบายหาเสียงของทั้ง "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน และ "กมลา แฮร์ริส" จากพรรคเดโมแครต กำลังเป็นที่จับตาในปัจจุบัน และมีส่วนสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา
แนวโน้มนโยบายหาเสียงของฝั่งทรัมป์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการลดภาษี จากการวิเคราะห์ใจในความสำคัญ (Key word) หลักๆ ในช่วงการดีเบตที่ผ่านมา ตลาดมีมุมมองว่าหากทรัมป์ ได้รับชัยชนะศึกการเลือกตั้งในครั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจะกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น บริษัทจดทะเบียนมีกำไรที่ดีขึ้น
เนื่องจากนโยบายการลดภาษีบริษัทลงจาก 21% ในปัจจุบัน และมีเป้าหมายที่จะลดให้ลงมาอยู่ที่ 15% แต่เฉพาะกับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ เท่านั้น และยังให้คำมั่นนำกฎหมายภาษีฉบับปี 2017 มาใช้งานถาวร และเรียกร้องนำประเด็นสำคัญของร่างมาใช้อีกครั้ง รวมถึงการคงเพดานภาษีส่วนบุคคลไม่เกิน 37%
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตลาดหุ้นชอบ สามารถเรียกกระแสนิยมได้แรงในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะลดหย่อนกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ไม่จำเป็น (Deregulation) เอื้อให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้คล่องตัวขึ้น ซึ่งหากกลับไปดูนโยบาย โจ ไบเดิน ก่อนหน้านี้ ไม่ได้เอื้อต่อตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนมากนัก
ในขณะที่นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของ กมลา แฮร์ริส ในครั้งนี้ก็มีโทนที่คล้ายคลึงกับ ทรัมป์ คือ เข้ามาบู้ในเรื่องของการลดภาษี เช่นเดียวกัน หนึ่งในนโยบายหาเสียงด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของแฮร์ริส อาทิ ขยายระยะเวลาการลดภาษีเงินได้ สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี, เสนอเครดิตภาษีธุรกิจขนาดเล็ก เพิ่มการลดหย่อนภาษีสูงสุดเป็น 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านบาท) แก่ธุรกิจขนาดเล็กแห่งใหม่
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า แม้การเลือกตั้งระหว่าง "กมลา แฮร์ริส" และ "โดนัลด์ ทรัมป์" กำลังเข้มขึ้น แต่สัญญาณตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งในเอเชียไม่ได้ดูแย่นัก หากแฮร์ริส จะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
จากคะแนนความนิยมในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าแฮร์ริส จะได้รับกระแสนิยมที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองว่าก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปมากกว่าทรัมป์ ซึ่งก็อาจจะเป็นผลดีกับจีน เพราะทรัมป์ค่อนข้างเดาทางได้ยาก
ขณะที่ แฮร์ริส น่าจะมีมุมมองที่คล้อยไปตามนโยบายเดิมของ "โจ ไบเดน" แม้การตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนยังมีอยู่ ตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) แต่ก็เลือกเป็นรายสินค้า ไม่หว่านแหเหมือนทรัมป์ ด้วยมองว่าการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ในมุมกลับกัน หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะเป็นผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยรวม และจะหนุนภาพการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่อาจตามมาด้วยเงินเฟ้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป รวมถึงจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโดยรวม โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน
ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งรวมไปถึงไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัด และอาจได้อานิสงค์ในกรณีที่กำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีความเข้มข้นขึ้น เช่น อินเดีย รวมถึงเวียดนามที่พบว่ามีการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้าสู่เวียดนามอย่างมีนัยยะในช่วงที่ Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความรุนแรง
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อตลาดหุ้นไทยนั้น หรือแม้แต่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) แทบจะไม่ได้เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะเจาะจงในหุ้นรายกลุ่ม หรือรายตัว แต่จะมีผลในเชิงของภาพรวมบรรยากาศในการลงทุนมากกว่า
ด้วยนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน เป็นการเปิดหน้าโจมตีทางการค้ากันแบบตรงๆ ซึ่งไม่ได้ระบุเจาะจงประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ทำให้ไทยยังไม่ใช่จุดโฟกัสในการเรียกเก็บภาษีสินค้าของสหรัฐฯ ถ้ามองในมุมนี้ก็จะเป็นผลประโยชน์เชิงบวกต่อกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับส่งออก
โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหุ้นไทยที่จะได้รับอานิสง์ ได้แก่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET เป็นต้น
และด้วยมาตรการเสริมกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ทำให้มองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ การย้ายถิ่นฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับอานิสงส์หนีไม่พ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่อยู่ในอาเซียน หนีไม่พ้น ไทยและเวียดนาม ด้วยสายป่านที่ยาวส่งผลให้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA มีความน่าสนใจ
ในช่วงเวลาที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำคนสำคัญของโลกเริ่มหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ อย่างเข้มข้น จึงเป็นโอกาสในการมองหาการลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน