สถานการณ์การลงทุนทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปียังคงผันผวนต่อเนื่อง จากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวลง และการรอความชัดเจนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นับเป็นการเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลง และทำให้ความกังวลที่จะเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะถดถอยลดลง
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อ 16 ตุลาคม มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ลง 0.25% ต่อปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยลดจาก 2.50% เป็น 2.25%ต่อปี โดยให้มีผลทันที
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย(KTB)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์การลงทุนไตรมาส 4 ปี 2567 ยังมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยนอกประเทศ หลักๆ คือตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางว่าจะยืดเยื้อเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อ supply chain ของน้ำมันและราคาน้ำมันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเฟด จะสามารถลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์และสอดคล้องกับ Dot Plot ซึ่งคาดน่า จะทำให้ความผันผวนลดลงกว่าช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้นอกประเทศไทยจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยของ Fed หรือธนาคารกลางอื่น ๆ ในช่วงปลายปี รวมทั้งในประเทศไทยเองจะมีเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่เชื่อว่า กนง.ก็จะยังไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ตลาดพันธบัต ร(บอนด์)และหุ้นกู้ในประเทศจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวแตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมานัก
สำหรับการระดมทุนนั้น ในส่วนหุ้นสามัญมีโอกาสที่จะได้เห็นหุ้น IPO ที่ค้างคาถูกหยิบขึ้นมาลงตลาดใหม่ จากสภาวะตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่หุ้นกู้ บริษัทกลุ่ม Investment grade จะยังคงออกหุ้นกู้ได้ตามปกติ แต่กลุ่ม High Yield ยังท้าทาย ต้องดูกันไปทีละราย แต่ภาพรวมยังน่าจะซบเซาต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนนั้น นายสงวนกล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วง 9 เดือนแรก ให้ผลตอบแทนต่อปีที่ 5% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับจากวิกฤติโควิดเป็นต้นมา ซึ่งดัชนีราคาดังกล่าวมีอายุราว 8 ปี แต่ถ้าเป็นพันธบัตรอายุยาวเกินกว่า 10 ปี จะให้ผลตอบแทน 7.7% หมายความว่า พันธบัตรตัวยาวทำผลตอบแทนได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบาย
"ขณะที่ความผันผวนในตลาดพันธบัตรลดลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุน search for yield โดยไปแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มในตัวยาว จึงทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนแบนราบลง (flattening)"
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในช่วงเดือนตุลาคมที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนและมีแรงขายพันธบัตรจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ Yield พันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งถือว่า เป็นความผันผวนที่น้อย จึงมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีเงินเย็นและรับความผันผวนของราคาได้ระดับหนึ่ง
สำหรับหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ให้ผลตอบแทน 4.1% ซึ่งก็ถือว่าสูงสุดนับจากโควิดเป็นต้นมา ชี้ว่าแม้หุ้นกู้กลุ่ม High Yield จะหดตัว แต่กลุ่ม investment grade ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดี โดยขอให้นักลงทุนยังใช้ความระมัดระวังในการเลือกหุ้นกู้
ส่วนหุ้นกู้กลุ่ม High Yield ที่ผ่านมา ข่าวร้ายด้านธรรมาภิบาลหายไป แต่ยังมีข่าวขอปรับโครงสร้างหนี้อยู่เป็นระยะ ทำให้ sentiment ยังไม่แข็งแรงดีนัก นักลงทุนอาจจะรอให้สถานการณ์สงบนิ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่านี้
จนทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ผู้ออกที่ยังเหลืออยู่สามารถบริหารจัดการผ่านความยากลำบากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ก่อน ความมั่นใจจะกลับมา และอาจพิจารณา search for yield ในกลุ่มนี้อีกครั้ง
ด้านดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธีมลงทุนไตรมาส4 ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้ายังมีปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยบวกหลักมาจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะเป็น “ขาลง”และเป็นจุดจบของดอกเบี้ยขาลงในสหรัฐ ส่วนผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนในสหรัฐขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำคนใหม่
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐนั้นมุมมอง 2 มุมคือ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐกับอัตราเงินเฟ้อ โดยเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและมีแนวโน้มจะชะลอต่อเนื่อง หากประเมินจากการจ้างงานในระยะยาว ส่วนเรื่องเงินเฟ้อแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในไตรมาส 4 ที่มาจากภาคบริการเป็นหลัก
“ปีหน้าต้องจับตา ถ้าเงินเฟ้อยังเป็นบวก รายได้จะเริ่มดีขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลบวกต่อการบริโภค แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดีเงินเฟ้อชะลอก็เป็นสัญญาณที่ต้องระวังด้านความเสี่ยง นอกจากนี้ประเทศที่เกี่ยวข้องกับจีนมีโอกาสรับอานิสงก์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แต่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”ดร.จิติพลกล่าว
จากปัจจัยข้างต้น จะส่งผลต่อสินทรัพย์การลงทุนในช่วงไตรมาส4 โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ยังเป็นบวก เพราะเฟดลดดอกเบี้ยอาจจะเห็นเงินเฟ้อเด้งบ้าง ไม่เป็นปัจจัยที่น่ากังวล แต่ระยะกลาง-ยาว ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ดาวไซส์ตราสารหนี้ไม่สูงและผลตอบแทนอยู่ประมาณ 5%ทำให้ตราสารหนี้น่าสนใจ
ส่วน “หุ้น”แนวโน้มน่าจะมีการกระจายตัวมากขึ้นในการลงทุน โดยเฉพาะตลาดเอเซียน่าจะดีที่มีผลบวกจากจีนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนทองคำกับน้ำมันนั้น ผลกระทบจากสงครามน้อยลง จากการที่คนเริ่มชิน แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนรอบนี้ อาจไม่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมัน เพราะจีนไม่ได้ซื้อน้ำมันจากสหรัฐ ดังนั้น ราคาน้ำมันน่าจะฟื้นยาก แต่คอมมูนิตี้โดยรวม ค่อยๆทยอยปรับฐาน
ทั้งนี้ข้อดีจากการลดดอกเบี้ยสหรัฐ ทำให้ทองคำไม่ปรับลดลง แต่ด้วยราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นมา 20-30% เทียบจากปีก่อน ทองคำจึงไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนรายใหม่หรือที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ซื้อเพิ่ม เพราะราคาทองไม่น่าจะบวกต่อเนื่อง 20-30% ยกเว้นราคาทองคำจะลดลง 100-200 ดอลลาร์หรือ 5-10% เป็นต้นไป แรงซื้อทองคำจะเริ่มกลับมา
“ปีหน้าจะเป็นจุดจบดอกเบี้ยขาลงและดอกเบี้ยจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ฉะนั้นปัจจัยบวกตราสารหนี้ทั่วโลกจะลดลง แต่บอนด์ไทยจะเด่น เหตุผลจากดอกเบี้ยนโยบายไทยไม่ลดลงมาก ขณะที่เฟดปรับลดต่อ”
ดังนั้นส่วนต่างที่แคบลงเมื่อเทียบดอกเบี้ยสหรัฐกับไทย ทำให้เม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้า ส่งผลเงินบาทแข็งค่าคือ ผลตอบแทนบอนด์ไทยอาจจะไม่มาก แต่นักลงทุนต่างประเทศซื้อบอนด์ไทยเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งความเสี่ยงของหุ้นกู้เอกชนลดลงจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีหน้า ตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำเครดิตดี ผลตอบแทนน่าจะได้ 3.5-4.0% ส่วน Non rate หรือ High Yield ประมาณ 6-7%
สำหรับหุ้นต่างประเทศสามารถลงทุนได้ตลอด เพราะหุ้นจะมี Earning ขณะที่ทองคำมีแต่เรื่องราคา ส่วนใหญ่จะสู้หุ้นขนาดกลางขนาดเล็กไม่ได้ โดยแนวโน้มทองคำระยะยาวปรับฐานคือ ราคาทรงตัว ซึ่งต้องดูว่า จะมีอะไรจะเป็นสตอรี่ใหม่ เช่น ธนาคารกลางเข้ามาซื้อทองคำหรือจะเกิดจากนโยบายกีดกันทางการค้าหรือนโยบายเศรษฐกิจโลก ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกยังไม่เห็นสัญญาณบวก แต่คอมมูนิตี้โดยรวมน่าจะปรับฐานอยู่ในกรอบกว้างประมาณ 10%
ดร.จิติพลกล่าวว่า ในไทยเอง หากมองในมุมของหุ้น คือเศรษฐกิจในประเทศและตลาดทุนในประเทศนั้นจุดแข็งคือ ความมั่นคง จุดอ่อนคือ ความเชื่อมั่น หมายความว่า ไทยไม่ใช่ตลาดที่เติบโตสูง แต่ไม่ลงแรง ก่อนหน้านี้นักลงทุนรายย่อยขาดความเชื่อมั่น เพราะการเมือง แต่ตอนนี้ความเชื่อมั่นกลับมา
ส่วนจะมีมากกว่านี้หรือไม่หรือหุ้นไทยจะเป็นตลาดเติบโตได้หรือไม่ ส่วนตัวมองในแง่เติบโตนั้นโอกาสที่จะเห็นเอิร์นนิ่งของบริษัทไทยจะพลิกเติบโตแรงๆ 10% ไม่ง่าย ยกเว้นจะมีหุ้นตัวใหม่/IPO แต่หุ้นตัวเก่าทำอะไรไม่ได้ ขณะที่กองทุนวายุภักดิ์ก็เป็นตะกร้าหุ้นตัวเดิม
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกล่าวว่า แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยไทยอยู่ในขาลง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจรอดูผลกระทบจากโครงการดิจิทัล วอลเลต ซึ่งจะมีความต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยเฉพาะผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ อีกด้านคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะขยายตัวดีขึ้น หรือในการลดดอกเบี้ยอาจจะขัดแย้งกับรัฐบาล
ในมุมมองการลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระของประชาชนนั้น เนื่องจากปัจจุบันภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะให้ผลตรงกันข้ามคือ อาจจะทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มอีก
“ช่วงนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้น หากปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ย่อมกดดันต่อราคาน้ำมันและสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งอาจจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าได้อีก เพียงแต่ในระยะกลาง-ระยะยาว ผมคิดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวชัดขึ้น ดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับลดลง”
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวได้ 5% ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีความผูกพันกัน จะเป็นปัจจัยดึงเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศ เพราะฉะนั้นเงินบาทยังทรงตัวหรืออ่อนตัวบ้าง แต่ระยะกลางเงินบาทจะแข็งค่ากลับมาแข็งค่าอีกครั้ง อยู่ในกรอบเคลื่อนไหว 32-34 บาทต่อดอลลาร์
“ส่วนตัวมองว่า ปีหน้าแนวโน้มดอกเบี้ยโลกอยู่ในขาลง ดังนั้นมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะเห็นธปท.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ เนื่องจากทั่วโลกทยอยปรับลบดอกเบ้างแล้ว และเฟด ยังเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยต่ออย่างน้อย 1.00%”
ดร.อนุสรณ์ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินต้องประเมินปัจจัยทั้งภายในภายนอกให้ครบถ้วนว่า ควรปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ขณะนี้เองอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากต่ำกว่าเป้าหมาย มีเหตุผลในการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม
"แม้นอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้แต่เป็นผลจาก Supply Shocks ราคาพลังงานสูงขึ้นจากสงคราม ราคาอาหารสูงขึ้นจากอุทกภัย ไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรงแต่อย่างใด การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ หากหวังพึ่งมาตรการการคลังอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ"
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567